“บ้านคือวิมานของเรา” หลายคนวาดฝันไว้อย่างสวยงามที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง แต่ก่อนที่เราจะซื้อบ้าน ความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะการซื้อบ้านมีภาระผูกพันที่เป็นรายจ่ายติดตามมาและจะอยู่กับเราไปอีก นาน ซึ่งมาดูกันว่าภาระที่ตามมาพร้อมกับการเป็นเจ้าของบ้านมีอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้หาวิธีรับมือได้อย่างมั่นใจ
เมื่อซื้อบ้าน นอกจากราคาบ้านที่ต้องจ่ายแล้ว ภาระที่มาพร้อมกันเลย นั่นคือ ค่าตกแต่ง ค่าเฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายในบ้าน ส่วนนี้เป็นเพียงค่าใช้จ่ายเริ่มต้นสำหรับการเตรียมตัวเข้าอยู่ จะว่าไปก็เหมือนอาหารเรียกน้ำย่อยเท่านั้น บางคนที่ชื่นชอบการตกแต่งบ้านด้วยตนเองต้องพึงระวังความเพลิดเพลินจากการ ตกแต่งบ้าน เพราะอาจทำให้งบประมาณในการซื้อบ้านบานปลายได้ ในขณะที่บางคนเลือกวิธีจำกัดรายจ่ายส่วนนี้ด้วยการซื้อบ้านจากโครงการจัดสรร ที่มีโปรโมชั่นแถมเฟอร์นิเจอร์ครบชุด
ปัจจุบันคนเรามักซื้อบ้านด้วยการขอสินเชื่อกับธนาคาร คนกลุ่มนี้จึงมี ค่าผ่อนบ้าน เป็นค่าใช้จ่ายประจำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทำสัญญาเงินกู้และมีอยู่ไปตลอดจนกว่า จะหมดภาระ นับเป็นแขกขาประจำที่มาเยี่ยมเยือนเจ้าของบ้านสม่ำเสมอทุกเดือน โดยทั่วไปค่าผ่อนบ้านมักไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับวงเงินสินเชื่อ ซึ่งมักสอดคล้องไปตามราคาบ้านที่เราเลือกและจำนวนเงินดาวน์ที่จ่ายไป แน่นอนว่าเมื่อต้องขอสินเชื่อกับธนาคาร ก็จะมีค่าใช้จ่ายจิปาถะตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าประเมิน ค่าธรรมเนียมในการกู้เงิน ค่าจดจำนอง ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยและต้องเตรียมให้พร้อมก่อนยื่น ขอสินเชื่อ
เมื่อได้เข้าไปอยู่ในบ้านสมดังตั้งใจแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเป็นการปิดฉากภาระต่างๆ เพราะคนที่ซื้อบ้านจากโครงการจัดสรรหรือห้องชุดคอนโดมิเนียม มักมี ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ที่เก็บจากผู้อาศัยเพื่อใช้เป็นเงินบำรุงรักษาโครงการ นับเป็นขาประจำอีกหนึ่งรายที่ต้องจ่ายเป็นรายปี ส่วนจำนวนเงินจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโครงการและพื้นที่ใช้สอย หากบ้านหรือคอนโดของใครมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง ภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางก็จะมากตามไปด้วย
อีกเรื่องที่ขาดไม่ได้คือ ค่าสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า หรือค่าโทรศัพท์ สำหรับครอบครัวที่อยู่กันน้อยคน ค่าน้ำค่าไฟที่ว่านี้อาจไม่กวนใจมากเท่าไร แต่หากเป็นครอบครัวที่อยู่กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง คงเข้าใจลึกซึ้งดีว่าการประหยัดน้ำวันละนิดหรือเลือกใช้เครื่องไฟฟ้าแบบ ประหยัดไฟนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด
และเป็นธรรมดาสำหรับข้าวของเครื่องใช้ที่มีการใช้งาน ซึ่งนานวันไปย่อมชำรุดทรุดโทรม จำเป็นต้องมีการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ ค่าซ่อมบำรุงจึงนับเป็นค่าใช้จ่ายที่ควรมีการกันสำรองไว้ แม้บางครั้งจะสามารถชะลอการซ่อมแซมออกไปได้ เช่น สีบ้านหลุดลอกหรือหลอดไฟเสื่อม แต่บ่อยครั้งที่การชำรุดอาจเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ทันตั้งตัวและต้องซ่อมบำรุง โดยเร่งด่วน เช่น ท่อประปาแตก หลังคารั่ว เป็นต้น การกันเงินเผื่อไว้จะช่วยบรรเทาความโกลาหลให้ครอบครัวได้
บ้านก็ไม่ต่างจากคน ที่ต้องการความคุ้มครองความเสี่ยงเหมือนกัน อย่างประกันอัคคีภัยหรือโจรกรรม แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ดูเหมือนมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก แต่หากเกิดขึ้นแล้วมีโอกาสสร้างความเสียหายได้อย่างใหญ่หลวง จนมีคนเคยกล่าวไว้ว่า “โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” โดยทั่วไปเบี้ยประกันอัคคีภัยมีอัตราไม่สูงมาก และมักจ่ายเป็นรายปีหรือจ่ายครั้งเดียวคุ้มครองได้ 2 ปีหรือ 3 ปี ขึ้นอยู่กับแบบประกันและลักษณะความคุ้มครอง
อีกหนึ่งรายจ่ายที่อาจเรียกได้ว่าเป็นผลข้างเคียงของการเลือกซื้อบ้าน นั่นคือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บางคนเลือกซื้อบ้านโดยใช้ราคาเป็นตัวตั้ง โดยยอมที่จะอยู่ห่างไกลตัวเมืองหรือต้องเข้าซอยลึก สิ่งที่ตามมาคือ ความสะดวกด้านคมนาคม สำหรับคนที่ใช้รถยนต์หรือแท็กซี่เป็นพาหนะในการเดินทางอยู่แล้ว อาจบอกว่าไม่มีผลกระทบมากนัก อย่างมากก็ยอมเพิ่มค่าน้ำมันอีกนิดหรือค่าแท็กซี่อีกหน่อย แต่ย่าลืมว่าค่าน้ำมันหรือค่าแท็กซี่เหล่านี้ เป็นรายจ่ายที่ทำปฏิกิริยาโดยตรงกับอัตราเงินเฟ้อซึ่งนับเป็นตัวเร่งอย่างดี ทีเดียว นอกจากนี้ ยังเหมารวมไปถึงค่าเดินทางไปโรงเรียนของลูกๆ ด้วย บางคนอาจใช้วิธีขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน ขณะที่บางคนอาจเลือกใช้บริการรถรับ-ส่งของโรงเรียน ดังนั้น หากเลือกบ้านที่อยู่ไกลตัวเมืองออกไป ก็ต้องยอมรับว่าอาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นได้
ความสุขจากการมีบ้านไม่ได้มาจากขนาดหรือราคาของบ้าน สำคัญที่ความอบอุ่นในครอบครัว แม้ว่าการซื้อบ้านของใครสักคนจะดูเหมือนเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ แต่หากมีการวางแผนอย่างรอบคอบและตระเตรียมความพร้อมไว้รับมือเป็นอย่างดี แล้ว บ้านก็จะไม่เป็นเพียงแค่การวาดวิมานในอากาศ
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
No comments:
Post a Comment