Tuesday, November 12, 2013

7 นิสัยอันตรายในเฟซบุ๊ค



มี 7 อุปนิสัย ที่อาจพัฒนาเป็นบุคลิกภาพที่เป็นปัญหาเชิงจิตวิทยาในระยะยาวของผู้ใช้เฟซบุ๊คที่อาจรู้ไม่เท่าทัน ดังนี้

(1) “หลงไหลตัวเองมากขึ้น

เป็นอุปนิสัยแรกเริ่มที่อาจดูไม่เป็นปัญหา หรือนำไปสู่หลายๆ ปัญหา ไม่น่าเชื่อว่า เฟซบุ๊คทำให้คนหลงตัวเองมากขึ้น! ผู้คนส่วนมากรู้เรื่องตนเองดีที่สุด ฉะนั้นพวกเขาจึงมักโพสต์ทุกอย่างที่พวกเขาภูมิใจ ง่ายที่สุดคือเรื่องหน้าตาคนพวกนี้มักชอบโพสต์รูปตัวเองในมุมสวย หล่อ และเฝ้ารอคนมากดชื่นชอบหรือแสดงความคิดเห็น หรือ กระทั่งการกดปุ่มไลค์ รูปที่ตนเองเพิ่งจะโพสต์ลงไป!

เฟซบุ๊คทำให้คนขี้โม้ ขี้คุย ขี้อวดมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมการอวด หลายคนมักโพสต์รูปถ่ายกับรถใหม่ บ้านใหม่ ของเล่นชิ้นใหม่ งานใหม่ สถานที่เที่ยวใหม่ๆ กระทั่งอาหารที่กำลังจะทานพวกเขาก็ไม่วายที่จะถ่ายรูปเพื่อเอามาอวดเพื่อนๆ หรืออวดว่ามีจำนวนคนมาขอเป็นเพื่อนมากมาย คนมากดชอบ แสดงความคิดเห็น ก็กลายเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาหลงตัวเองมากขึ้นไปอีกแน่ว่า พวกเขาทำล้วนทำทุกอย่างเพื่อโปรโมทตัวเอง!

(2) “ขี้อิจฉามากขึ้น

เมื่อมีคนโพสต์เรื่องตนเอง หน้าตาดี ชีวิตดี ฐานะดี ดูดี ดูเท่ห์ คนอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่ดีแบบนั้น จึงกลายเป็นคนที่ขี้อิจฉามากขึ้น พวกเขายิ่งรู้สึกด้อยค่าและไม่พอใจในชีวิตตนเอง และรู้สึกว่าตนเองเป็นไอ้ขี้แพ้ตลอดเวลา

ในแง่นี้อธิบายได้ว่า เพราะในโลกจริง ผู้คนส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นคนจน ชนชั้นกลาง หลายๆ คนไม่ได้เป็นคนเก่ง คนที่ได้รับสถานะทางสังคมเฉกเช่น ดารา คนดัง หรือบุคคลสาธารณะ เพื่อคนธรรมดาเหล่านั้นเข้ามาใช้เฟซบุ๊ค เขาก็เพียงแค่อยากจะรู้สึกเป็นคนเด่น คนดัง คนสำคัญบ้าง จึงต้องสร้างภาพตนเองให้ดูดีในพื้นที่สาธารณะสักเล็กน้อย เพื่อหลอกตัวเองหรือผู้อื่น การยกระดับภาพชีวิตตนเองให้ดีขึ้น ก็มิใช่อะไรอื่น นอกจากจะอิจฉาคนอื่น ไม่ว่าจะมาจากโลกจริงหรือโลกเสมือนก็ตาม
(3) “มองโลกในแง่ร้าย
เฟซบุ๊คเป็นที่ที่คนชอบโพสต์เรื่องส่วนตัวดีๆ ขณะที่เรื่องส่วนรวมของสังคมมักเป็นเรื่องร้ายๆ ดังนั้นคนที่เสพข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก จึงมักเห็นเรื่องปัญหาสังคมต่างๆ ถูกหยิบขยายความ ตีความ ส่งต่อแพร่หลายกระจายวงกว้าง พวกเขาจึงรู้สึกว่าโลกช่างโหดร้ายและมีลักษณะไม่ไว้วางใจผู้คนเรื่องต่างๆ มากขึ้น
(4) “ชอบสอดส่องสอดรู้ชีวิตคนอื่นๆ
เฟซบุ๊คเอื้อโอกาสให้เราสามารถสอดส่องดูชีวิตของเพื่อนเราได้อย่างไร้ขอบเขตเวลาและสถานที่ แม้จะมีระบบติดตั้งความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว แต่ผู้คนจำนวนมากก็หลงลืมการสร้างเขตแดนจำกัดพื้นที่ชีวิตของตน หลายคนถูกหลงไหล/ติดตาม/เฝ้าดูอย่างใกล้ชิดจากคนแปลกหน้าที่เข้ามาเป็นเพื่อน และชีวิตของเราก็ถูกคนทั้งโลกจับตามองอยู่ตลอดเวลา
การสอดส่อง ติดตาม (stalker) หรือการเข้าไปก้าวล่วงชีวิตของผู้อื่น นั่นแสดงว่าคุณมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนัก เพราะคุณเริ่มแยกไม่ออกระหว่าง พื้นที่สาธารณะ และความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น และนั่นอาจทำให้คุณรู้สึกย่ามใจและมีอำนาจเหนือชีวิตของผู้อื่นและก้าวไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ในโลกจริงกับเขาที่คุณชื่นชอบ
(5) “เปิดเผยตนเองมากขึ้น-กันเองมากขึ้น
ในที่นี้หมายถึง เป็นกันเองมากขึ้นกับทุกๆ คน เฟซบุ๊คมีระดับความเป็นเพื่อนมากมาย แต่ทุกคนก็หลงลืมระยะห่างทางกายภาพในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้คนในเฟซบุ๊คใช้ภาษา หรือเข้ามาพูดจาทักทายผ่านข้อความกับบุคคลต่างๆ เสมือนเป็นเพื่อนมาอย่างยาวยาน พวกเขา ระมัดระวังและรักษาระยะห่างน้อยลงความสัมพันธ์กลายเป็น ง่ายๆ และกันเองนั่นทำให้ภาษาพูดและ ระดับการคุกคาม การวิพากษ์วิจารณ์มีระดับรุนแรง และนำไปสู่การพูดแบบไม่ใส่ใจเขาใจเรามากขึ้น
ผู้คนในเฟซบุ๊คใช้ถ้อยคำภาษาที่กันเองมากขึ้น พวกเขาไม่รู้สึกแปลกที่จะบอกเล่าเรื่องราวความคิดความรู้สึกของตนเองกับคนแปลกหน้า
และนั่นนำมาสู่ การเปิดรับ รู้จักคนแปลกหน้ามากขึ้น และกับดักของอาชญากรในเฟซบุ๊คที่พวกเขามักใช้ คือ ถ้อยคำที่สุภาพ ท่าทางที่ดูคบได้ ไว้ใจได้ และการสร้างความไว้วางใจที่มาจากบทสนทนาที่ดูเป็นกันเอง
(6) “จมทุกข์แบกโลกซึมเศร้า
มีหลายคนที่ในชีวิตจริงพวกเขาไม่มีความสุข พวกเขาจึงแบกโลกที่พวกเขาอยู่มาสถิตไว้ในเฟซบุ๊ค กลายเป็นแหล่งระบายอารมณ์ จมทุกข์ โศกเศร้ามากขึ้น การระบายอารมณ์ หรือแสดงความรู้สึกผิดหวังเสียใจนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คุณอาจพบว่ามีเพื่อนบางคนที่มักจะอยู่ในอารมณ์เศร้าตลอดเวลา นั่นแสดงว่าเขาไม่สามารถหลุดพ้นก้าวข้าวสภาวะนั้นได้ และ จะกลายเป็นคนที่มีภาวะซึมเศร้าแบบออนไลน์ตลอดเวลา และคนอื่นๆ ก็จะพากันเบื่อหน่ายหรือรังเกียจพวกเขา แทนที่จะเข้าใจและช่วยรักษาพวกเขา
(7) “หลงใหลยึดติดแบบอย่างชีวิตของผู้อื่น
เฟซบุ๊คเป็นสังคมเสมือนจริง แต่ไม่ใช่โลกจริง เป็นที่ที่ผู้คนดี เลว รวย จน มาสื่อสารร่วมกัน คนธรรมดา ดารา คนดัง มาใช้ชีวิตร่วมกันในโลกออนไลน์ ผู้คนส่วนมากที่ติดเฟซบุ๊คจะแยกแยะไม่ออกระหว่างชีวิตจริง โลกจริง พวกเขาเริ่มรู้สึกยึดติด ติดตาม ผูกพันกับชีวิตของคนอื่นๆ มากขึ้น กลายเป็นว่า พวกเขาจะใช้ชีวิตของตนเองด้วยการยึดเอาชีวิตของคนอื่นเป็นแนวทาง ที่พักพิงใจ และเริ่มสนใจชีวิตตนเองน้อยลง
คนที่หลงใหลในชีวิตผู้อื่น จะสูญเสียความภูมิใจในตนเอง มากไปกว่านั้น คือ เฝ้ารอ เฝ้าคอยที่จะติดต่อติดตามสื่อสารกับผู้อื่น คนที่เขานับถือเป็นแบบอย่างตลอดเวลา เขาจะไม่สนใจชีวิตของตนเองอีกต่อไป!
ร้ายกว่านั้นคือ เขาอนุญาตให้ชีวิตคนอื่นเข้ามาควบคุมบงการชีวิตของเขาเอง ร้ายที่สุด คือ สับสนในโลกจริง โลกเสมือน และไปใช้ชีวิตของตนเองในชีวิตเฟซบุ๊คของคนอื่น!
จะเห็นว่า เฟซบุ๊คนั้น มิใช่เชื้อโรคหรือไวรัส แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่บ่มเพาะ ผลิต และเผยแพร่โรค อันเกิดมาจากผู้คนที่มาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมเสมือนจริง ผู้คนต่างๆ เข้ามาเสพติดมันและเปลี่ยนนิสัยตนเอง หรือย้ำสร้างนิสัยเดินตนเองให้มีความรุนแรงมากขึ้น
พลังของเฟซบุ๊ค ที่ให้การสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ สภาวะไร้ขอบเขต เวลา พรมแดน และการปลดปล่อยตัว ซ่อนเร้นตนเองจากชีวิตจริง นั่นทำให้ต่างคนต่างแพร่กระจายโรคออนไลน์ได้ง่ายขึ้น หากเราใช้สื่ออย่างรู้ตระหนักเท่าทันสภาวะจิตใจตนเอง เท่าทันอารมณ์ และรู้ทันโลกเสมือนจริงนี้ เราก็จะมีภูมิคุ้มกันสื่อและใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข!
ที่มา- บทความ 7 นิสัยอันตรายในเฟซบุ๊กธาม เชื้อสถาปนศิริ (https://www.facebook.com/time.chuastapanasiri)
ที่มา- บทความ 7 นิสัยอันตรายในเฟซบุ๊ก ธาม เชื้อสถาปนศิริ, นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) timeseven@gmail.com
ที่มา- hitech.sanook, http://blog.eduzones.com/poonpreecha/109661
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment