Thursday, December 4, 2014

อาหารต้องห้าม..ยามป่วย




        "เคยได้ยินกันไหมเมื่อเวลาที่ป่วย มักจะมีคนบอกว่าห้ามทานโน่นนะ ห้ามทานนี่นะ แล้วที่ห้ามเนี่ยเป็นเพราะอะไรถึงห้าม และมีโทษอย่างไรเมื่อทานเข้าไป สารพัดอย่างที่อยากรู้ว่าถ้าจะทานเข้าไปจะเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหนกับร่างกายของเรา หรือมีผลเสียอย่างไรกับระบบภายในจะอันตรายถึงภายนอกหรือเปล่า เราเหล่าคนรักสุขภาพต้องไปหาคำตอบกัน"

  โรคกระเพาะอาหาร

          ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ชาแก่ ๆ กาแฟ ของเผ็ด ของทอด ของมัน เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้เกิดความร้อนสะสม ทำให้โรคหายยาก ทางที่ดีควรจะรับประทานอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และเป็นอาหารที่ย่อยง่าย และหลายสาเหตุที่สามารถทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารจนเป็นโรคกระเพาะได้ มีดังนี้ คือ

         
* การกระตุ้นของปลายประสาท เกิดจากความเครียดวิตกกังวลและอารมณ์

         
* การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ยาดอง

         
* การสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ทำให้เกิดการหลั่งกรดออกมามาก

         
* การกินยาแก้ปวด ลดไข้ แก้ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพริน และยาสเตียรอยด์ ยาลูกกลอนต่าง ๆ โดยเฉพาะสารที่ระคายกระเพาะ

  โรคความดันโลหิตสูง

          ควรหลีกเสี่ยงอาหารมัน อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น หมูสามชั้น ไขกระดูก ไข่ปลา โกโก้ รวมทั้งเหล้า เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้เกิดความร้อนชื้นสะสมในร่างกายและความชื้นก็มีผลทำให้เกิดความหนืดของการไหลเวียนทุกระบบในร่างกายและความร้อนก็จะไปกระตุ้นทำให้ความดันสูง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด หรืออาหารหวานมาก รวมทั้งผลไม้อย่างลำไย ขนุน ทุเรียน

          ส่วนอาหารที่แนะนำให้ทานคือ

         
* ผักขึ้นฉ่าย มีสารลดความดันเลือด และลดปริมาณคอเลสเตอรอลด้วย ควรรับประทานขึ้นฉ่ายฝรั่งก้านโต 4 ก้านต่อวัน

         
* กระเทียม และหอมใหญ่มีผลทั้งลดความดันและคอเลสเตอรอล ให้กินเพิ่มเติมในอาหาร ถ้ากินกระเทียมเม็ดหรือแคปซูลให้กิน 4,000 ไมโครกรัมต่อวัน

         
* แตงกวา มะเขือเทศ กะหล่ำปลี มะเขือยาว ขมิ้นชัน ผักโขม บร็อกโคลี มันฝรั่งทั้งเปลือก ปลาทูน่า เมล็ดฟักทอง และเมล็ดทานตะวัน บุคคลทั่วไปต้องการโพแทสเซียมวันละ 2,000 มิลลิกรัม แต่ผู้ที่มีความดันเลือดสูงต้องการถึง 3,500 มิลลิกรัมต่อวัน

 
  โรคตับและถุงน้ำดี

          หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารมันเนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารทอด อาหารหวานจัด เพราะแพทย์จีนถือว่า ตับและถุงน้ำดีมีความสัมพันธ์กับระบบย่อยอาหาร การได้อาหารประเภทดังกล่าวมากเกินไปจะทำให้สมรรถภาพของการย่อยอาหารอ่อนแอลง และเกิดโทษต่อตับและถุงน้ำดีอีกต่อหนึ่ง

          อาหารที่แนะนำให้ทาน

         
* เห็ดสามอย่าง นำมาต้ม ทานได้ทั้งน้ำ และเนื้อ น้ำจะล้างสารพิษในตับ เนื้อให้โปรตีน

         
* เม็ดเก๋ากี้ ต้มในน้ำแกงชนิดใดก็ได้ เก๋ากี้มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ บำรุงตับ

         
* ขมิ้นชันแคปซูล กี่เม็ดก็ได้ ทานก่อนนอน

         
* ชาแคลลี่ สมุนไพรสกัดจากดอกคามิลเลียทานก่อนนอน

         
* ถั่วเขียว บำรุงตับ


  โรคหัวใจและโรคไต

          ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัดเพราะจะทำให้มีการเก็บกักน้ำ การไหลเวียนเลือดจะช้า ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ไตต้องทำงานขับเกลือแร่มากขึ้น ส่วนอาหารรสเผ็ดก็ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้กระตุ้นการไหลเวียนสูญเสียพลังงาน และหัวใจก็ทำงานหนักขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงอาหารที่มีฟอสเฟสมาก เพราะจะทำให้กระดูกบางผุและหักง่าย ต่อมไทรอยด์จะโต ส่วนอาหารที่มีโพแทสเซียมก็ต้องเลี่ยงเช่นกัน เนื่องจากทำให้หัวใจเต้นเร็ว และอาจเกิดภาวะหัวใจวายตามมา

          อาหารที่แนะนำให้ทาน

         
* อาหารจำพวกก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น เพราะนอกจากจะมีคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังมีโปรตีนที่เหมาะสมกับร่างกาย

         
* ผักที่มีสีเขียวเข้ม สีเหลืองเข้ม แตงกวา น้ำเต้า บวบ ฟักเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว ผักกาด

 
  โรคเบาหวาน

          หลีกเลี่ยงน้ำตาลทุกชนิด รวมทั้งน้ำผึ้งด้วย ขนมหวาน และขนมเชื่อมต่าง ๆ ผลไม้กวน น้ำหวานต่าง ๆ นมรสหวาน รวมทั้งน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ชา กาแฟ รวมทั้ง เหล้า เบียร์ด้วย ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน องุ่น ลำไย มะม่วงสุก ขนุน ละมุด น้อยหน่า ลิ้นจี่ อ้อย ผลไม้แช่อิ่ม หรือเชื่อมน้ำตาลทั้งหลาย ของขบเคี้ยวทอดกรอบ และอาหารชุบแป้งทอดต่าง ๆ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขกทอด ข้าวเม่าทอด

          อาหารที่แนะนำให้ทาน (แต่ต้องจำกัดปริมาณ)

         
* อาหารพวกแป้ง ข้าว เผือก มัน ถั่วเมล็ด แห้งต่าง ๆ ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน บะหมี่ ขนมปัง มะกะโรนี

         
* ควรใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดฝ้ายแทน

         
* อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารพิเศษสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เช่น น้ำตาลจากผลไม้

         
* ผักประเภทหัวที่มีน้ำตาลหรือแป้งมาก เช่น หัวผักกาด ฟักทอง หัวหอม กระเจี๊ยบ ผักตระกูลถั่ว หัวปลี เป็นต้น

         
* ผลไม้บางอย่าง เช่น ส้ม เงาะ สับปะรด มะละกอ ฝรั่ง กล้วย เป็นต้น

 
  โรคไฮเปอร์ไทรอยด์

          งดพวกอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นสิ่งเร้าอย่างกาแฟ ชา โดยเฉพาะชาเขียว เครื่องดื่ม ชูกำลัง และแอลกอฮอล์ พริกชนิดเผ็ด เพราะพวกนี้ช่วยเพิ่มเมตาโบลิซึ่ม อาจทำให้มีอาการใจสั่นมากขึ้น หายใจติดขัด รู้สึกแน่นเหมือนมีอะไรติดคอ งดพวกหน่อไม้ฝรั่งและสาหร่าย เพราะจะมีสารขับน้ำและของเสียออกจากร่างกาย ทำให้เมตาโบลิซึ่มของร่างกายต้องเพิ่มการทำงาน

          อาหารที่แนะนำให้ทาน

         
 ควร ทานอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย เพราะอาหารจากธรรมชาติจะยังคงคุณค่าสารอาหารไว้ได้มากที่สุด เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ แป้งไม่ขัดขาว พืชผักผลไม้ในท้องถิ่นตามฤดูกาล (รสไม่หวาน) โดยเฉพาะกล้วยมีสารที่ช่วยลดแล็คติด เอชิด (Lactic Acid) ช่วยลดอาการเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคไทรอยด์ เนื้อปลา ตลอดจนธัญพืชนานาชนิด ทั้งนี้ เพื่อให้ร่างกายสามารถใช้อาหารเป็นยา และใช้ยาเป็นอาหาร อาหารที่มีโปรตีนสูง (โดยเฉพาะจากธัญพืช) วิตามินและเกลือแร่ จากธรรมชาติเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย

  โรคเกาต์

          เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากการตกตะกอนของกรดยูริคในข้อ กรดยูริคมาจากสารพิวรีนพบว่าเป็นในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง ผู้ที่เป็นจะมีอาการปวดบวมแดง โดยเฉพาะบริเวณหัวแม่เท้า อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ เนื้อสัตว์จำพวกเป็ด ไก่ เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ เห็ด กระถิน ชะอม ขี้เหล็ก หน่อไม้ ควรจัดอาหารที่มีใยอาหารมากแก่ผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้น้ำหนักลดลง

          อาหารที่แนะนำให้ทาน

         
* เชอร์รี่สด ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้ทำการทดลองในผู้หญิงพบว่าระดับกรดยูริคในเลือดลดลง

         
* เต้าหู้ ถั่วแระญี่ปุ่น น้ำเต้าหู้ และอาหารจาก ถั่วเหลือง คนที่มีอาการโรคเกาต์ควรต้องลดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แต่ก็ไม่ควรให้ร่างกายขาดโปรตีน ดังนั้นโปรตีนจากถั่วเหลืองน่าจะเป็นทางออกที่ดี งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าถั่วเหลืองช่วยลดกรดยูริคได้ ปริมาณที่แนะนำคือทานถั่วเหลืองสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก

         
* มะเขือเทศ พริกหวาน และอาหารที่อุดมด้วย วิตามินซี งานวิจัยของมหาวิทยาลัยทัฟต์สในอเมริกาพบว่าผู้ที่ทานอาหารที่ทำจากมะเขือ เทศพริกหวานสีเขียว และผักที่มีวิตามินซีสูงวันละ 2 ถ้วย ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ มีระดับกรดยูริคในเลือดลดลงหลังจากการทดสอบอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้พืชผักสีแดงที่มีสารต้านอนุมูลอิสระไลโคปีนอาจช่วยลดกรดยูริคได้

 
         
* น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา อะโวคาโด และอาหารที่อุดมด้วยไขมันไม่อิ่มตัว มีงานวิจัยจำนวนมากพบว่า ไขมันไม่อิ่มตัวที่พบในอาหารเหล่านี้อาจช่วยลดกรดยูริค รวมถึงงานวิจัยในแอฟริกาใต้ที่เปิดเผยว่า เมื่อให้ผู้ป่วยโรคเกาต์ทานไขมันไม่อิ่มตัวแทนไขมันอิ่มตัว พบว่าระดับกรดยูคิคในเลือดของพวกเขาลดลง 17.5 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 16 สัปดาห์ นอกจากนี้ การได้รับแคลอรีเพิ่มขึ้นจากไขมันไม่อิ่มตัว ยังอาจช่วยลดระดับอินซูลินซึ่งช่วยป้องกันโรคเกาต์กำเริบในทางอ้อม

แหล่งที่มา  SLIM UP, http://health.kapook.com/view24631.html

No comments:

Post a Comment