Monday, August 18, 2014

คุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?




โรคซึมเศร้าคืออะไร

          โรคซึมเศร้าคือโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล จึงต้องได้รับการรักษาโดยเร็วด้วยการปรึกษาจิตแพทย์

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

          โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อ เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการทำงานลดลง

          ทั้งนี้ สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าส่วนหนึ่งมาจากสภาวะจิตใจ และสิ่งแวดล้อมที่เผชิญ เช่น ประสบกับความเครียดหนัก ๆ เจอมรสุมชีวิต เจ็บป่วยเรื้อรังจนหมดกำลังใจ พบกับความสูญเสียในชีวิต เช่น สูญเสียคนรัก ครอบครัว ตกงาน ปัญหาเรื่องการเงิน ต้องย้ายบ้านกะทันหัน ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น และหากเจอกับเหตุการณ์หรือความรู้สึกเหล่านั้นบ่อย ๆ ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้

          นอกจากนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เพราะโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากมีญาติเป็น แล้วเราจะเป็นไปด้วย เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่ามีปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นมากระตุ้นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดี ผู้หญิงมักประสบกับภาวะนี้มากกว่าผู้ชายถึง 70% และมักเริ่มต้นเมื่อราวอายุ 32 ปี

อาการโรคซึมเศร้า

          อาการแสดงของโรคซึมเศร้าในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปในลักษณะนี้

           ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว เก็บตัว

          ย้ำคิดย้ำทำ

          เชื่องช้า เซื่องซึม ไม่กระฉับกระเฉง

          รู้สึกเศร้า วิตกกังวลมาก

          นอนน้อย นอนไม่ค่อยหลับ แต่ในบางคนจะมีอาการนอนหลับมากเกินไป

          ทานอะไรไม่ค่อยลง ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด แต่ในบางคนกลับทานอาหารมากกว่าปกติ

          ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก หลงลืมง่าย

          เบื่อ ไม่สนใจกิจกรรมต่าง ๆ หมดสนุกที่จะทำอะไร

          อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

          รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีคนช่วยเหลือ ท้อแท้ ผิดหวังในตัวเอง สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง

          มีปัญหาทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน หายใจไม่เต็มอิ่ม

          ชอบพูดเปรยว่าถ้าไม่มีเขาอะไรคงจะดีขึ้น หรือพูดในลักษณะสั่งเสียอยู่เรื่อย ๆ

          อยากฆ่าตัวตาย คิดถึงเรื่องความตาย

          ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่เป็นหนักต้องระวังให้มาก เพราะมีโอกาสคิดสั้นฆ่าตัวตายสูงมาก หากมีเรื่องมากระทบจิตใจเพียงนิดเดียว โดยจากสถิติพบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายมากกว่าร้อยละ 60 ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วย

          อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังป่วยมาได้นานเท่าไรไม่สามารถบอกได้ เพราะในบางคนป่วยมาแล้ว 1-2 ปีถึงออกอาการ แต่บางคนป่วยแค่ 6 เดือนก็รู้ตัวแล้ว จึงสามารถรักษาให้หายได้

เหตุผลดี ๆ ที่คุณควรรักษาโรคซึมเศร้า

          1.คุณจะหลับสบายขึ้น โรคซึมเศร้าอาจทำให้คุณนอนไม่หลับหรือตื่นเร็วกว่าปกติ วันต่อมาคุณจะยิ่งอ่อนเพลีย และโรคซึมเศร้าก็จะรุนแรงขึ้นเพราะการที่คุณอดนอนนี่เอง

          2.ชีวิตรักดีขึ้น ยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัวอาจทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง แต่บ่อยครั้ง โรคซึมเศร้านี่แหละเป็นตัวการบ่อนทำลายชีวิตรัก เคยมีการศึกษาชี้ว่าผู้ป่วยกว่า 70% หมดความสนใจทางเพศหากไม่ได้รับยา ทั้งนี้ การรักษาจะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย

          3.บรรเทาปวด การรักษาโรคซึมเศร้านอกจากจะทำให้คุณรู้สึกดีแล้วยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งการศึกษามากมายชี้ว่าคนที่มีอาการ เช่น ปวดข้อหรือไมเกรน จะรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นหากมีอาการซึมเศร้า

          4.ทำงานได้ดีขึ้น เพราะหากคุณเป็นโรคซึมเศร้า คุณอาจไม่มีสมาธิทำงานและทำผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง

          5.สมองเฉียบแหลมความจำดีขึ้น โรคซึมเศร้าอาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความ จำและการตัดสินใจ แต่ไม่ต้องห่วงไปเพราะอาการเหล่านี้รักษาได้

          6.ครอบครัวมีความสุข บ่อยแค่ไหนที่คุณรู้สึกโมโหจนไปลงกับคนรอบข้างแล้วมาเสียใจทีหลัง ซึ่งการรักษาจะช่วยให้คุณมั่นคงขึ้น และลดความตึงเครียดในครอบครัว

(คัดบทความบางส่วน)
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment