Friday, August 26, 2016

รสชาติน้ำลายเปลี่ยนไป อาการนี้อาจบอกได้ว่ากำลังป่วย !




          เมื่อการรับรสผิดปกติไป ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกขมคอ น้ำลายหวาน น้ำลายเปรี้ยว หรือน้ำลายจืด เราก็สามารถเช็กว่าป่วยเป็นอะไรได้จากน้ำลายบอกโรค

          อาการผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราอย่างรสน้ำลายเปลี่ยนไปจากเดิม ก็สามารถวินิจฉัยในเบื้องต้นได้เหมือนกันว่าร่างกายแอบซ่อนโรคอะไรอยู่หรือ เปล่า ดังนั้นหากใครมีอาการน้ำลายเปรี้ยว น้ำลายหวาน น้ำลายจืด หรือน้ำลายขม ลองมาเช็กกันค่ะว่าอาการดังกล่าวจะแปลว่าเราป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้าง

น้ำลายหวาน หรือความรู้สึกหวานในปาก

          หากรู้สึกหวานในปาก เหมือนน้ำลายมีรสชาติหวาน ๆ แม้จะยังไม่ได้กินอาหารอะไรเลยก็ตาม อาการน้ำลายหวานอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ซึ่งส่งผลให้เอนไซม์ที่ใช้ย่อยอาหารผิดปกติไป โดยเฉพาะเอนไซม์อะไมเลส ทำให้เกิดความรู้สึกหวานในคอ หรือรู้สึกว่ากลืนน้ำลายแล้วได้รสหวานอย่างชัดเจน
   
          นอกจากนี้ในศาสตร์แพทย์แผนจีนยังระบุว่า อาการน้ำลายหวานอาจบ่งบอกถึงสภาวะของม้ามและกระเพาะอาหารที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะของโรคเรื้อรังที่เป็นนาน ๆ จนทำให้ม้ามอ่อนแอลงได้ หรืออาจเกิดจากภาวะมีความร้อนสะสมในม้ามและกระเพาะอาหารมาก โดยเฉพาะคนที่ชอบกินอาหารรสจัด อาหารเผ็ดร้อน ก็อาจทำให้เกิดความร้อนสะสมในม้ามและกระเพาะอาหารจนก่อให้เกิดอาการน้ำลาย หวาน ลิ้นแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ มีแผลในปากและลิ้น อุจจาระแข็งและแห้ง ผิวแห้ง ชีพจรเต้นเร็ว

   
          อีกทั้งคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ก็อาจแสดงอาการเบื้องต้นของโรคมาในลักษณะน้ำลายหวานด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากรู้สึกได้ถึงรสหวานในน้ำลายหรือลำคออย่างผิดปกติ แนะนำให้รีบไปเช็กสุขภาพตัวเองอย่างถี่ถ้วนไว้ก่อนจะดีกว่า
   
น้ำลายเปรี้ยว เกิดจากอะไรได้บ้าง
   
          ความรู้สึกเปรี้ยวในปากเพราะรสเปรี้ยวของน้ำลาย เกิดได้จากกรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมามากกว่าปกติ จนอาจไหลย้อนขึ้นมาให้รู้สึกถึงความเป็นกรดได้ หรือเกิดจากตับและถุงน้ำดีทำงานไม่เป็นปกติ มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกรดไหลย้อน หรือผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผล โดยอาการน้ำลายเปรี้ยวอาจเกิดร่วมกับอาการอึดอัด แน่นหน้าอก เจ็บที่สีข้าง คลื่นไส้ ลิ้นเป็นฝ้าสีเหลืองบาง และชีพจรตึงเครียด

น้ำลายขม มีรสขมในปากหรือลำคอ
   
          ในเคสที่มีน้ำลายขม หรือรู้สึกขมในปากและลำคอ ให้สงสัยถึงสัญญาณของโรคกรดไหลย้อนเป็นอันดับแรก เพราะรสขมในน้ำลายอาจเกิดจากน้ำดีไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหารนั่นเอง

น้ำลายเค็ม หรือความรู้สึกเค็มในปาก

          หากมีน้ำลายเค็มเหมือนอมเกลือเม็ดเล็กอยู่ในปากตลอดเวลา อาจสงสัยในเบื้องต้นก่อนได้ว่า ร่างกายตกอยู่ในภาวะขาดน้ำ ส่งผลให้การทำงานของไตผิดปกติ จนแสดงออกมาทางรสชาติของน้ำลายได้ หรืออาจสันนิษฐานได้ถึงอาการต่อมน้ำลายอักเสบ ที่ทำให้ร่างกายหลั่งน้ำลายได้น้อยกว่าเดิม ก่อให้เกิดอาการปากแห้ง และรู้สึกถึงรสเค็มในปากได้

          ทว่าในทางการแพทย์แผนจีน อาการเค็มในปากมักจะเกี่ยวข้องกับไตเป็นหลัก โดยเฉพาะหากมีอาการเมื่อยล้าเอวหรือเข่าง่ายกว่าปกติ เวียนศีรษะบ่อย หูแว่วเสียงดัง ร้อนที่ฝ่ามือ ลิ้นเป็นฝ้าบาง ๆ เหงื่อออกง่ายและเยอะ ร่วมกับอาการชีพจรเต้นแรงและเร็ว อาการเช่นนี้อาจเกิดจากภาวะไตยินพร่อง หรือหากมีอาการหนาวสั่น เท้าเย็น อ่อนเพลียง่าย รู้สึกเฉื่อยชา ไม่มีแรง ปัสสาวะบ่อยและมาก ลิ้นบวม สัญญาณชีพจรลึกและเบา แสดงว่าพลังหยางของไตไม่พอ ส่งผลให้เกิดภาวะไตพร่องได้

น้ำลายจืด กินอะไรก็ไม่รู้รสชาติ
   
          ความรู้สึกรับรสอาหารลดลง มีอาการปากจืด บ่งบอกถึงสภาวะร่างกายที่ขาดสารอาหาร วิตามิน โปรตีน และเกลือแร่ มักจะพบมากในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบเบื้องต้น หรือภาวะอาการอักเสบที่เริ่มทุเลาลง
   
          นอกจากนี้อาการน้ำลายจืดหรือมีรสจืดในปากยังอาจมีสาเหตุมาจากกระเพาะอาหาร และม้ามพร่อง ทำให้ย่อยและดูดซึมอาหารได้ไม่ดี ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร ท้องอืด จุกเสียด และมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วยในบางราย

น้ำลายหอมเหมือนน้ำผลไม้
   
          หากรู้สึกว่าน้ำลายมีกลิ่นหอมคล้าย ๆ กับกลิ่นของน้ำผลไม้ เคสนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงนะคะ เพราะความรู้สึกปากหอม น้ำลายหอมเหล่านี้มักจะพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวานขั้นรุนแรง สืบเนื่องมาจากภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากนั่นเอง ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและทำการรักษาโดย เร็วที่สุดจะดีกว่า

          สัญญาณผิดปกแม้จะเพียงเล็กน้อยอย่างรสน้ำลายเปลี่ยนไป ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเลยสักนิดเดียว เพราะความผิดปกเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอื่น ๆ ได้ ฉะนั้นหากเรารู้เท่าทันความผิดปกของร่างกายก็น่าจะช่วยยับยั้งความรุนแรงของ โรคต่าง ๆ ได้ในตัวนะคะ
   


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
nytimes
healthguidance
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/cute-food/

No comments:

Post a Comment