Monday, June 29, 2015

โรคไต ป่วยแล้วยุ่ง มาเช็คสัญญาณโรคไตก่อนดีกว่า




           ใครชอบกินเค็มบ้าง? รู้สึกไหมว่าเวลาที่เรากินเค็มมาก ๆ แล้ว ร่างกายเราจะรู้สึกกระหายน้ำมากเป็นพิเศษ แต่พอดื่มน้ำเข้าไปมากเท่าไร ก็ยิ่งปวดปัสสาวะถี่ขึ้น ถ้าใครเป็นแบบนี้บ่อย ๆ นั่นหมายความว่าอวัยวะที่ช่วยกรองของเสียและปัสสาวะอย่าง "ไต" จะทำงานหนักซะแล้ว แล้วถ้า "ไต" ป่วยขึ้นมาล่ะก็ เหนื่อยเลยนะคะ เพราะอย่างที่รู้กันว่าโรคไตเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลรักษายาวนานตลอดชีวิต ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น แถมค่าใช้จ่ายยังสูงมากเสียด้วย

          ...เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าปล่อยให้ชีวิตยุ่งยากด้วยโรคไตดีกว่าค่ะ หันมาดูแลไตกันให้มากขึ้น และหมั่นเช็กอาการต่อไปนี้ เพื่อตรวจสอบว่าตัวเองเข้าข่ายเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตหรือไม่ ถ้าเข้าเค้าล่ะก็ รีบเปลี่ยนพฤติกรรมด่วน !

มารู้จัก ไต กันก่อน

          ไต (Kidney) เป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนล่างของช่องท้อง มีสองข้าง คือซ้ายและขวา รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดง ยาวประมาณ 10-13 เซนติเมตร กว้าง 6 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร มีน้ำหนักรวมกันประมาณ 300 กรัม มีต่อมหมวกไต (Adrenal gland) อยู่ด้านบนของไตทั้งสองข้าง มีชั้นไขมันสองชั้นห่อหุ้มอยู่ ภายในไตนั้นจะมี 2 ชั้น คือ ชั้นนอก เรียกว่า คอร์เทกซ์ (cortex) ส่วนนี้มีสีแดง เพราะมีโกบเมรูลัสอยู่ ขณะที่ชั้นใน จะเรียกว่า เมดูลลา (medulla) ส่วนนี้มีสีขาว ส่วนใหญ่ประกอบด้วยท่อหน่วยไต ส่วนของเมดูลลาที่ยื่นเข้าไปจรดกับโพรงที่ติดกับหลอดไตเรียกว่า พาพิลลา (papilla) และเรียกโพรงนี้ว่า กรวยไต (pelvis)

          หากถามว่า "ไต" เป็นอวัยวะของระบบใดในร่างกายมนุษย์ ก็ต้องตอบว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ระบบทางเดินปัสสาวะ" เพราะมีหน้าที่กรองเอาของเสีย น้ำ และเกลือแร่ส่วนเกินจากเลือดที่ไหลผ่านไปสร้างปัสสาวะ เมื่อผลิตเสร็จแล้วก็จะส่งผ่านไปทางท่อไต นำไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ เมื่อมีปริมาณปัสสาวะมากพอ เราจึงรู้สึกปวดปัสสาวะ อยากจะถ่ายปัสสาวะขับของเสียออกนั่นเอง

          อย่างที่ทราบแล้วว่า หน้าที่หลัก ๆ ของไตก็คือ กรองของเสียออกจากเลือด และขับออกพร้อมกับน้ำในรูปของปัสสาวะ แต่นอกจากหน้าที่ในระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว ไต ยังมีหน้าที่ช่วยรักษาความปกติของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย สร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้น จะสังเกตได้ว่า หากไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย

แล้วปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมีอะไรบ้าง?

          มีหลายเหตุและปัจจัยที่อาจทำให้ไตของเราป่วยได้ ซึ่งมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต ไว้ดังนี้

          กรรมพันธุ์ โรคไตบางชนิดเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic Kidney Disease) ที่มีทั้งแบบที่เกิดกับทารก ซึ่งมักจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่เกิด และแบบที่เกิดกับผู้ใหญ่ ที่จะพบความผิดปกติเมื่ออายุ 20-30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม กรรมพันธุ์ไม่ใช่สาเหตุหลัก และผู้ป่วยโรคไตจากกรรมพันธุ์ก็มีน้อยมาก แต่ถ้ามีใครคนหนึ่งในครอบครัวเป็นโรคไตขึ้นมา โอกาสที่เครือญาติพี่น้องจะเป็นด้วยก็มีสูงถึง 90% จึงควรไปตรวจสุขภาพกันยกครอบครัว

          โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงจะส่งผลกระทบต่อไตด้วย หากเป็นนาน ๆ ไตก็เสื่อมลง จนถึงขั้นไตวายเรื้อรัง ซึ่งเชื่อไหมว่าผู้ที่เป็นไตวายเรื้อรัง ราว 30-50% ล้วนเกิดจากมีความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น และในทางตรงข้าม คนที่เป็นโรคไตบางชนิดก็อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงตามมาเช่นกัน

          โรคเบาหวาน ถือเป็นสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายราว ๆ 30% เพราะผู้ที่เป็นเบาหวานมานานแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่หลอดเลือดของไต ทำให้ไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานยังติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่ายกว่าปกติ ทำให้เกิดกรวยไตอักเสบได้ หากเป็นบ่อย ๆ นาน ๆ เข้า ก็ทำให้ไตอักเสบ ไตวาย แล้วยังมีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมาด้วย

          ความอ้วน เพราะคนอ้วนจะมีเมตาบอลิซึมสูงกว่าคนปกติ ทำให้เกิดของเสียต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้น ไต ที่เป็นอวัยวะกรองของเสียก็จะทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย

          อายุ เมื่อ คนเราแก่ตัวขึ้น สังขารร่างกายก็ร่วงโรยไปตามวัย เช่นเดียวกับ ไต ที่จะเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 35 ปี เท่ากับว่ายิ่งอายุมากขึ้น ไตก็จะยิ่งเสื่อมตามอายุลงไปด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศชายที่มีโอกาสต่อมลูกหมากโตสูงขึ้น ทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดตัน ส่งผลกระทบต่อไตได้

          อาหาร อาหารหลายชนิดที่หากรับประทานเข้าไปมาก ๆ จะยิ่งเป็นอันตรายต่อไต โดยเฉพาะอาหารรสเค็มจัดที่จะไปทำให้ความดันโลหิตสูง แล้วส่งผลกระทบต่อไปที่ไต รวมทั้งอาหารกลุ่มโปรตีนที่มีงานวิจัยพบว่า เนื้อสัตว์ถือเป็นของเสียในร่างกาย หากทานเข้าไปมาก ๆ จะมีของเสียเหลือตกค้างในร่างกายมาก ทำให้ไตที่มีหน้าที่กรองของเสียทำงานหนักมากขึ้น แต่ถ้าเป็นโปรตีนจากเนื้อปลา หรือไข่ขาว นั้นสามารถทานได้ เพราะเป็นโปรตีนคุณภาพสูงและย่อยง่าย

          ยา ยาบางชนิดที่ไม่ส่งผลดีต่อไตนัก เช่น ยาแก้ข้อกระดูกอักเสบ (พวก NSAID) ที่ทำให้เกิดไตวายได้ รวมทั้งสารทึบรังสีบางชนิดที่ใช้ฉีดผู้ป่วยเวลาตรวจทางเอกซเรย์ก็มีผลให้ไตวายได้เช่นกัน ดังนั้น หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง

          อาชีพและอุบัติเหตุ คนบางอาชีพมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น นักมวย ที่อาจถูกเตะต่อยบริเวณไต รวมทั้งคนที่ทำงานในโรงงาน ก็อาจได้รับสารพิษสะสมในไตมานาน 

ใครเสี่ยงเป็นโรคไตได้มากกว่าคนอื่น?

          1. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

          2. ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคไต

          3. ผู้ที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ น้อยกว่า 2,500 กรัม

          4. ผู้ป่วยโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

          5. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

          6. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

          7. ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในไต

          8. ผู้ที่ได้รับสารพิษจากยาบางชนิด หรือสารแปลกปลอมอยู่เป็นประจำ หรือมากเกิน

          9. ผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

          10. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เซลล์ตัวเอง

          ในปัจจัยเสี่ยงทั้ง 10 ข้อ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เป็น 2 โรคสำคัญนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังได้บ่อยที่สุด

มาเช็กสัญญาณบอกอาการโรคไตกัน

          ได้รู้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคไตกันไปแล้ว คุณสุ่มเสี่ยงข้อไหนบ้างเอ่ย? หรือหากใครไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลยก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะไม่ได้หมายความว่าคุณรอดพ้นจากโรคนี้แล้วนะคะ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารรสเค็มจัดที่ทำให้คุณมีสิทธิ์เผชิญหน้ากับโรคนี้ ว่าแล้วก็มาตรวจสอบสัญญาณบ่งชี้โรคไตกันหน่อยดีกว่า ว่าความผิดปกติของตัวเองเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่

มีอาการบวมทั้งตัว

          ผู้ป่วยโรคไตส่วนมากจะมีอาการบวมตามตัว เกิดจากการมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกาย ระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตา และหน้า ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง โดยอาจรู้สึกว่าแหวนหรือรองเท้าคับขึ้น ถ้าบวมไม่มากอาจสังเกตไม่เห็น แต่ทดสอบได้ด้วยการลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อย หากพบว่ามีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่าบวมแน่น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยโรค เพราะอาการบวมอาจไม่ได้เป็นโรคไตก็ได้ แต่ยังเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ และโรคตับ ดังนั้น การตรวจปัสสาวะน่าจะได้ผลที่ชัดเจนที่สุด

เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซีด

          ผู้ที่เป็นโรคไต ถ้าเป็นน้อย ๆ มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หากเป็นมาก ๆ ใกล้เป็นไตวายเรื้อรังจะเพิ่มอาการซีด คันตามตัว เบื่ออาหาร

ปวดหลัง ปวดบั้นเอว

          ไต เป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณช่วงหลังด้านล่างของเรา ดังนั้น หากไตเกิดความผิดปกติขึ้น เราอาจรู้สึกปวดหลัง บั้นเอวที่บริเวณชายโครง ร้าวไปถึงท้องน้อย หัวหน่าว และที่อวัยวะเพศได้ บางคนก็ถึงขั้นปวดกระดูกและข้อ ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการอุดตันที่ท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือในท่อไตมีถุงน้ำโป่งพองก็ได้ แต่อาการปวดหลังก็สามารถวินิจฉัยได้หลายโรคเช่นกัน จึงต้องตรวจสอบอาการอื่นควบคู่ ๆ ไปด้วย

          ทั้งนี้ หากเรากดหลัง และทุบเบา ๆ แล้วมีอาการเจ็บ อาจแสดงว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือไตอักเสบ ถ้ามีไข้สูงร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของกรวยไตอักเสบติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน ซึ่งก็มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรค SLE เป็นต้น

ปัสสาวะผิดปกติ

          เนื่องจาก ไต อยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับปัสสาวะ นั่นก็อาจหมายถึงไตทำงานผิดปกติได้ โดยเราสามารถสังเกตปัสสาวะได้ดังนี้
         
          ปัสสาวะเป็นเลือด อาจมีหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการนี้ ทั้งนิ่ว เนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อุบัติเหตุกับทางเดินปัสสาวะ หรือ เส้นเลือดฝอยของไตอักเสบ แม้แต่มะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคไตเป็นถุงน้ำ ฯลฯ
         
          ปัสสาวะน้อยลง โดยปกติแล้วหากเราดื่มน้ำมาก ปัสสาวะก็ควรจะมากไปด้วย แต่หากใครปัสสาวะไม่ออกเลย อาจเป็นเพราะทางเดินปัสสาวะถูกอุดกั้น หรือการทำงานของไตเสียไป ลองทดสอบง่าย ๆ ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น แล้วสังเกตดูว่าปัสสาวะออกมากขึ้นหรือไม่ หากปัสสาวะยังน้อยอยู่ นั่นแสดงว่าไตเริ่มผิดปกติแล้ว

          ปัสสาวะบ่อย ความถี่ในการปัสสาวะของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดื่มน้ำ หรือการที่ร่างกายเสียน้ำไปทางอื่น ๆ เช่น เหงื่อ หรืออุจจาระ แต่หากวันดีคืนดี รู้สึกว่าตัวเองปัสสาวะบ่อยผิดปกติ หรือตื่นขึ้นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่า 3-4 ครั้ง อาจต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรคไตก็ได้ เพราะกระเพาะปัสสาวะจะสามารถเก็บน้ำได้ถึง 250 ซี.ซี. แต่ในคนที่เป็นโรคไต ไตจะไม่สามารถหยุดการขับน้ำในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีน้ำออกมามากและปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ จึงมักจะตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางดึก

          แต่อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนส่วนใหญ่ไม่เกิดมีสาเหตุมาจากโรคไต เพราะมักจะเป็นอาการของโรคเบาหวาน เบาจืด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือการกินน้ำมากเกินไปมากกว่า แต่ก็ยังอาจเป็นอาการของโรคไตวายในระยะ แรก ดังนั้น ถ้ามีอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะหากมากกว่าวันละ 3 ลิตร หรือตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

          ส่วนการปัสสาวะตอนกลางวัน หลายคนรู้สึกว่าตัวเองปัสสาวะบ่อยเกินไป ซึ่งจริง ๆ อาจไม่ได้ป่วยโรคไต แต่เกิดจากความวิตกกังวลของตัวเองที่ไปกระตุ้นให้อยากปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ มากกว่า

          ปัสสาวะเป็นฟองมาก ฟองสีขาว ๆ ที่เราในปัสสาวะก็คือโปรตีนนั่นเอง ซึ่งก็มีกันทุกคน แต่หากใครมีฟองสีขาว ๆ มากผิดปกติ อาจสงสัยไว้ก่อนว่า เส้นเลือดฝอยในไตอาจอักเสบ ทำให้มีโปรตีนรั่วไหลออกมามากผิดปกติ แต่ถึงกระนั้นก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าเป็นโรคไต ต้องดูอาการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น หากปัสสาวะมีฟองมากแถมยังเป็นเลือด ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นโรคไตก็ได้ ให้รีบไปพบแพทย์ตรวจร่างกายโดยเร็ว

ความดันโลหิตสูงมาก ๆ

          เคยได้ยินใช่ไหมว่าการกินอาหารรสเค็ม ๆ มาก ๆ จะทำให้ไตทำงานหนัก และเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่ไม่เคยมีอาการอะไรมาก่อน แต่พอไปตรวจสุขภาพกลับเจอความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจอนุมานได้ว่า ไตของเรามีความผิดปกติขึ้นแล้ว ควรให้แพทย์ตรวจอย่างละเอียดเพื่อเช็กว่าเป็นโรคไตด้วยหรือไม่

ป้องกันโรคไต ต้องดูแลไตอย่างไรดี?

          โรค ไตที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็นให้ยุ่งยากในการดูแลรักษาไปตลอดชีวิต เห็นทีต้องมาดูแลไตของเรากันให้มากขึ้นแล้วล่ะ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองแบบนี้ไง

          ลดการทานอาหารเค็ม ๆ ลง เพื่อควบคุมความดันโลหิต เน้นกินผักผลไม้ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

          ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          รักษาและควบคุมน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากตัวเองอ้วนเกินมาตรฐานให้พยายามลดน้ำหนัก

          ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากความดันโลหิตสูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่คงที่ จะส่งผลให้ไตเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ

          ผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อป้องกันการทำลายไต รวมทั้งการทำลายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หัวใจ และตา

          พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้ามากเกินไป ควรนอนให้หลับสนิทอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม

          หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะมีผลวิจัยชี้ว่า ไตของผู้สูบบุหรี่จะเสื่อมเร็วกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่

          หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวดข้อ ปวดหลัง ทั้งชนิดรับประทานและแบบฉีด หากใช้ในขนาดสูง หรือนานเกินไป ก็มีพิษต่อไตได้ รวมทั้งต้องระวังการกินยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ด้วย

          อย่าปล่อยให้เป็นโลหิตจาง เพราะมีการศึกษาพบว่า ถ้ารักษาภาวะซีดหรือโลหิตจางให้ดี จะทำให้ไตเสื่อมช้าลงได้

          ป้องกันภาวะติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่ต้องรีบรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้ไตเสื่อม

          ปฏิบัติสมาธิอย่างสม่ำเสมอ วันละ 10-15 นาที หรือสวดมนต์ให้จิตใจสงบก็ได้ เพื่อผ่อนคลายความเครียด และส่งผลดีต่อระบบประสาท ความดันโลหิต 

เป็นโรคไตต้องห้ามดื่มน้ำมาก และจำกัดอาหารเค็มใช่หรือไม่?

          หลายคนสงสัยกันมากในเรื่องนี้ เพราะมักจะได้รับการบอกต่อกันมาว่า หากเป็นโรคไตไม่ควรทานอาหารเค็ม และดื่มน้ำมากเกินไป เพราะจะทำให้ไตทำงานหนัก แต่จริง ๆ แล้ว การจำกัดน้ำดื่มและจํากัดอาหารเค็มนั้นจะจํากัดเฉพาะผู้ป่วยโรคไตที่มี ปริมาณปัสสาวะน้อย อยู่ในระยะที่มีอาการบวม มีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือมีความดันโลหิตสูงเท่านั้นที่ควรจำกัดปริมาณน้ำ ดื่มในแต่ละวันให้เท่ากับ "ปริมาณปัสสาวะของเมื่อวาน+500 มิลลิลิตร" แต่ถ้าไม่อยู่ในภาวะเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดน้ำดื่ม ส่วนอาหารเค็ม ถ้าลดได้ก็ถือเป็นเรื่องดีค่ะ

ป่วยโรคไต ทานอาหารแบบไหนดี?

          เมื่อ เป็นโรคไตแล้ว เวลาจะหยิบอะไรทานก็คงต้องคิดแล้วคิดอีกว่าอาหารเหล่านั้นจะยิ่งไปทำให้ไตทำ งานหนักขึ้นหรือไม่ หรืออาหารอะไรที่ควรทานให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ไตแข็งแรงขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอาการป่วยที่เป็นนั่นเอง

          หากป่วยเป็นโรคไตที่มีการรั่วของไข่ขาวออกมาทางปัสสาวะมาก ๆ แสดงว่ามีระดับไข่ขาวในเลือดต่ำ ต้องรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอ เพื่อชดเชยไข่ขาวที่สูญเสียไปทางปัสสาวะ

          หากเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะหลัง มีสารพิษคั่งในร่างกายมาก ๆ แบบนี้ไม่ควรทานโปรตีนมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้มีของเสียคั่งค้างมากขึ้น ควรเลือกทานเนื้อปลาที่ย่อยง่าย และมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ถ้าใครยังอยากทานเนื้อหมู เนื้อไก่ ก็ยังทานได้ แต่ต้องลดปริมาณลง 

          หากเป็นโรคไตวายเรื้อรังที่มีปัสสาวะน้อย ควรจำกัดอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน ผลไม้ เลือกทานแป้ง น้ำตาล ได้ ยกเว้นผู้ป่วยโรคไตที่เป็นโรคเบาหวานด้วย

          หากเป็นโรคไตวายพิการระยะแรก ๆ ที่ยังไม่มีความดันโลหิตสูง และยังไม่มีอาการบวม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่จำเป็นต้องลดการดื่มน้ำ หรือจำกัดเกลือโซเดียม เพราะยังเป็นระยะที่มีปริมาณปัสสาวะเท่าเทียมกับคนปกติ

          หากเป็นโรคไตวายพิการระยะหลัง ๆ เท่ากับว่าไตเสื่อมมากขึ้นแล้วจนไม่สามารถขับน้ำและเกลือโซเดียมได้เท่าคน ปกติ คนกลุ่มนี้จะต้องจำกัดการดื่มน้ำและเกลือโซเดียม เพราะผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวะน้อย มีภาวะบวม ความดันโลหิตสูง

อาหารอะไรที่มีโซเดียมมากเกินไป ต้องหลีกเลี่ยง

          พูดเรื่องอาหารเค็ม ๆ มาหลายบรรทัดแล้ว เชื่อว่าหลายคนยังอยากรู้ว่า นอกจาก "เกลือ" แล้ว ยังมีอาหารอะไรบ้างที่มีโซเดียมมากจนเป็นอันตรายต่อไตของคุณ มาลองดูกัน

          อาหารที่มีรสเค็มทั้งหลาย เช่น เกลือป่น น้ำปลา ซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว พริกน้ำปลา ซอสปรุงรส ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ ซอสเปรี้ยว ๆ ทั้งหลาย

          อาหารดองเค็ม เช่น กุ้งแห้ง กะปิ ผลไม้ดอง ผักดอง ปลาเค็ม เนื้อแดดเดียว

          อาหารดองเปรี้ยว เช่น หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ไส้กรอกอีสาน แหนม กระเทียมดอง

          อาหารที่มีรสหวานและเค็มจัด เช่น ปลาหวาน กุ้งหวาน หมูหย็อง หมูแผ่น กุนเชียง ผลไม้แช่อิ่ม

          อาหารที่ใส่ผงฟู เช่น เค้ก ซาลาเปา ขนมปังโฮลวีท เบเกอรี่ต่าง ๆ


          รับทราบเรื่องของโรคไต โรคที่เป็นได้จากการไม่เลือกทานอาหารแบบนี้แล้ว คงรู้แล้วใช่ไหมว่า ถ้าไม่อยากทรมานกับโรคไต จำไว้ว่าต้องลดการกินเค็มลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ลดการดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน เพราะ 2 โรคร้ายนี้จะนำโรคไตมาสู่คุณอีกไม่นานแน่นอน


ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment