Thursday, October 8, 2015

หลักปฏิบัติในการลดกินหวาน มัน เค็ม เลี่ยงป่วย





หลักปฏิบัติในการลดกินหวาน เลี่ยงป่วย

          1. ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง

          2. ไม่ปรุงน้ำตาลเพิ่มรสหวานในอาหารทุกชนิด

          3. โบกมือลาขนมหวาน แล้วรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานน้อย ๆ เช่น แอปเปิล ฝรั่ง ส้ม หรือแก้วมังกรแทน

          4. พยายามดื่มแต่น้ำเปล่า ลด ละ เลิก เครื่องดื่มปรุงแต่งรสทุกชนิด แม้แต่นมหวานหรือนมเปรี้ยวก็ตาม

          5. ออกกำลังกายเป็นประจำ


          อย่างไรก็ดี ในชีวิตประจำวันจริง ๆ เราอาจจำกัดการบริโภคน้ำตาลให้เหลือเพียงวันละ 6 ช้อนชาได้ค่อนข้างลำบาก แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เพื่อลดและเลี่ยงปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวันนะคะ

หลักปฏิบัติในการลดกินเค็ม เลี่ยงป่วย

          1. งดการเติมเครื่องปรุง เพราะในเครื่องปรุงรสแทบทุกชนิดมีโซเดียมแฝงอยู่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว

          2. เลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารสำเร็จรูป,
ไส้กรอก, หมูยอ, แหนม, เบคอน, ผักดอง, ผลไม้ดอง, เครื่องจิ้มผลไม้, ปลาเค็ม, ไข่เค็ม, เต้าหู้ยี้ หรือขนมขบเคี้ยว เป็นต้น

          3. ลดการบริโภคเครื่องจิ้มทุกประเภท โดยเฉพาะน้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มหมูกระทะ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น

          4. พยายามทำอาหารกินเอง เพราะอาหารตามสั่งหรือร้านอาหารนอกบ้าน มักจะเปี่ยมไปด้วยโซเดียมค่อนข้างสูง จากเครื่องปรุงรสที่โหมใส่กันมา

          5. ลด ละ เลิก ขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวชนิดถุงหรือแพ็ค

          6. เก็บขวดน้ำปลา และเครื่องจิ้มทั้งหลายให้ไกลหูไกลตา

          7. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค

          ใครที่เอะอะก็ต้องเหยาะซอส เหยาะน้ำปลาลงจานอาหารทุกครั้ง ลองห้ามใจไม่ต้องปรุงรสกันดีกว่า เพื่อสุขภาพที่ห่างไกลโรคเรื้อรังเนอะ

หลักปฏิบัติในการลดกินมัน เลี่ยงป่วย

          1. หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด โดยเฉพาะทอดลอยแบบน้ำมัน อย่าง กล้วยทอด ไก่ทอดกรอบ ปาท่องโก๋ เป็นต้น

          2. หันมารับประทานอาหารประเภทนึ่ง ต้ม ตุ๋น แทนอาหารประเภททอด

          3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิทุกชนิด

          4. จำกัดโควตาให้ตัวเองรับประทานอาหารประเภททอดและกะทิได้เพียงวันละ 1 เมนู

          5. เลือกบริโภคแต่เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่เอาหนัง

          6. ปรุงอาหารด้วยน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันมะกอก เป็นต้น

          ได้รู้อย่างนี้แล้วหลายคนอาจคิดว่า แหมชีวิตนี้ทำไมยากจัง แต่หากลองมองอีกมุมหนึ่ง การดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีเสียตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน โดยเลือกรับประทานอาหารรสชาติกลาง ๆ ไม่หวานจัด เค็มจัด หรือมันเยิ้ม ก็ยังดีกว่าต้องทนทรมานจากโรคภัยที่รุมเร้าภายหลัง เห็นด้วยไหมคะ ?

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กรมอนามัย
American Heart Association
AUTHORITY NUTRITION
คัดบทความบางส่วนจาก  http://health.kapook.com/view131313.html

No comments:

Post a Comment