Tuesday, October 6, 2015

ไฟฟ้าสถิตในร่างกายมนุษย์ป้องกันอย่างไร ใช่เราไหมที่ไฟแรงเฟร่อ




ไฟฟ้าสถิตในคน เกิดขึ้นได้บ่อย และเกิดไฟฟ้าสถิตได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาการไฟฟ้าสถิตจะป้องกันได้อย่างไร ถ้าเซ็งกับการถูกไฟฟ้าสถิตเหมือนเป็นคนไฟแรงเฟร่อ ต้องเจอกับวิธีป้องกันไฟฟ้าสถิตตามนี้

          อาการไฟฟ้าสถิตในร่างกายมนุษย์ ที่จับหรือแตะเข้ากับวัสดุหรือผิวหนังของเพื่อนข้าง ๆ แล้วเกิดอาการไฟฟ้าสถิตเปี๊ยะ ๆ เชื่อว่าทุกคนคงเคยเจอกับปรากฎการณ์ไฟฟ้าสถิตมาบ้างไม่มากก็น้อย แล้วทราบไหมคะว่าไฟฟ้าสถิตในร่างกายมนุษย์เกิดจากอะไร และมีวิธีป้องกันไฟฟ้าสถิตในคนได้อย่างไรบ้าง


ไฟฟ้าสถิตในร่างกาย เกิดจาก...

          สสารทุกชนิดที่อยู่บนโลกนี้ ไม่ว่าจะเก้าอี้ เสื้อผ้า ประตู หรือแม้แต่ตัวเราเอง ประกอบไปด้วยอะตอมที่มีอนุภาคของประจุไฟฟ้าขั้วบวก (โปรตอน) และประจุไฟฟ้าขั้วลบ (อิเล็กตรอน) ซึ่งโดยปกติแล้วอนุภาคของประจุไฟฟ้าขั้วบวกและลบจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ ตลอดเวลา จากการเสียดสีกันระหว่างสสารต่างชนิด ทำให้ประจุไฟฟ้าเกิดความไม่สมดุลกันระหว่างขั้วบวกและขั้วลบ

          ดังนั้นอะตอมในสสารที่เว้า ๆ แหว่ง ๆ จึงมีความพยายามจะแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้ากับสสารชนิดอื่นเพื่อให้เกิดความสมดุลในตัวเอง ซึ่งการถ่ายโอนประจุไฟฟ้าระหว่างสสารสองชนิดที่เกิดขึ้นนี้ ก็มีส่วนทำให้เกิดการสปาร์ค หรือที่เราเรียกว่าไฟฟ้าสถิตขึ้น โดยเฉพาะหากสสารชนิดใดชนิดหนึ่งสะสมประจุไฟฟ้าขั้วบวกไว้มาก ๆ

          โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะเกิดการแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้ากับสิ่งของรอบตัวตลอดเวลา ผ่านทางการเสียดสีหรือสัมผัส เช่น การที่สวมใส่เสื้อผ้า การนั่งเสียดสีกับเก้าอี้ หรือการสัมผัสลูกบิดประตู ซึ่งการแลกเปลี่ยนอะตอมระหว่างกันนี้จะค่อยเป็นค่อยไป หรืออธิบายง่าย ๆ ว่าต่างฝ่ายต่างได้ระบายประจุไฟฟ้าในตัวนั่นเอง

          แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดการสะสมประจุไฟฟ้าขั้วหนึ่งในตัวมากเกินไป (ซึ่งส่วนมากจะเป็นไฟฟ้าขั้วบวก เพราะประจุไฟฟ้าขั้วลบไหลออกจากสสารได้คล่องตัวกว่า) ก็อาจทำให้สสารชนิดนั้นมีศักย์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น กลายร่างเป็นสสารหรือคนไฟแรงเฟร่อพร้อมสปาร์คกับสิ่งอื่น ๆ ได้ง่ายดาย ซึ่งโดยปกติแล้วการสะสมประจุไฟฟ้ามักจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างแห้ง ในพื้นที่ที่มีวัสดุนำไฟได้ดี เช่น พื้นพรม พื้นขนสัตว์ หรือผ้าใยสังเคราะห์อย่างโพลีเอสเตอร์ เป็นต้น เนื่องจากประจุไฟฟ้าจะไม่ถูกปล่อยออกมาในสภาพอากาศที่ค่อนข้างเหมือนฉนวนการ เผาไหม้นั่นเอง ดังนั้นคนที่มีผิวแห้งจึงอาจเจอกับปรากฏการณ์ไฟฟ้าสถิตได้บ่อยกว่าคนอื่น


วิธีป้องกันไฟฟ้าสถิต

          อย่างที่บอกว่าไฟฟ้าสถิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการสะสมของอะตอมหรือประจุไฟฟ้าในร่างกายเรา รวมทั้งปัจจัยภายนอกอย่างสภาพอากาศที่ค่อนข้างแห้ง ซึ่งจะเป็นตัวนำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่ายขึ้น ดังนั้นวิธีป้องกันไฟฟ้าสถิตจึงมีหนทางให้พอทำได้อยู่บ้าง ดังนี้

         
ป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง โดยควรดื่มน้ำมาก ๆ รวมทั้งทาโลชั่นบำรุงผิวร่วมด้วย

         
เติมความชื้นในอากาศ โดยอาจอาศัยเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ หรือน้ำอ่างน้ำมาตั้งไว้ในห้องที่เราอยู่ก็ได้

         
พรมน้ำใส่เสื้อผ้าเล็กน้อย โดยเฉพาะเสื้อผ้าขนสัตว์ หรือพรมบนโซฟา เพื่อเพิ่มความชื้นและป้องกันการสะสมของประจุไฟฟ้า
          สวมใส่รองเท้าพื้นยาง ยางจะช่วยลดทอนการไหลของประจุไฟฟ้าได้

         
สวมถุงเท้าผ้าคอตตอนเป็นตัวกรองประจุไฟฟ้าอีกชั้น

         
หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ผลิตด้วยผ้าขนสัตว์ ผ้าใยสังเคราะห์ หรือโพลีเอสเตอร์ เพราะผ้าเหล่านี้เป็นตัวนำไฟฟ้าได้ง่าย เปลี่ยนมาใส่ผ้าฝ้ายแทนดีกว่า

         
ใช้เครื่องประดับช่วย หากคุณมักจะเกิดไฟฟ้าสถิตกับลูกบิดประตู หรือวัตถุใด ๆ ก็ตามอยู่บ่อยครั้ง ให้ลดทอนการถ่ายเทประจุไฟฟ้าด้วยการนำเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อย หรือโลหะใดก็ได้ ไปแตะกับวัตถุที่จะจับก่อน แค่นี้ไฟฟ้าสถิตก็จะไม่เกิดแล้ว
         ปลูกต้นไม้ไว้ในห้อง และหมั่นรดน้ำให้ชุ่มชื้นเสมอ วิธีนี้จะช่วยลดอากาศแห้งได้

         
พยายามหลีกเลี่ยงการคลุมเตียง เพราะผ้าที่เสียดสีกันอาจสะสมประจุไฟฟ้าไว้มาก โดยเฉพาะหากห้องนอนไม่มีที่ระบายอากาศติดอยู่

         
ถือโลหะไว้ในมือ เมื่อต้องอยู่นอกสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า อากาศที่แห้งในนั้นอาจทำให้ประจุไฟฟ้าในตัวคุณถูกสะสมโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นหากจับรถเข็น หรือตะกร้าแล้วเกิดไฟฟ้าสถิต แนะนำให้ถือโลหะอย่างกุญแจหรือสร้อยไว้ในมือสักพัก เพื่อถ่ายโอนประจุไฟฟ้าออกไปจากตัว จากนั้นจึงค่อยจับวัตถุอื่น ๆ ตามปกติ

          อากาศที่แห้งและพื้นผิว เช่น พื้นพรม และผ้าขนสัตว์ (โดยเฉพาะรองเท้า หนังสัตว์ ถุงเท้าขนสัตว์) เป็นวัตถุนำไฟฟ้าตัวดีเลยนะคะ ดังนั้นหากไม่อยากรู้สึกเจ็บแปล๊บ ๆ เพราะไฟฟ้าสถิต อย่าลืมอยู่ให้ห่างวัตถุนำประจุไฟฟ้าเหล่านี้ รวมทั้งปฏิบัติตามวิธีป้องกันไฟฟ้าสถิตข้างต้นด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Livescience
electrostatics.net
WikiHow
http://health.kapook.com/view130966.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/annelleprimos/rose-garden/

No comments:

Post a Comment