Thursday, July 2, 2015

ตากระตุก เรื่องนี้เกี่ยวกับสุขภาพหรือโชคลางล้วน ๆ



ตากระตุก ตากระตุกข้างซ้าย หรือตากระตุกข้างขวาบ่อย ๆ เกิดจากอะไร เรื่องนี้เกี่ยวกับสุขภาพไหม หรือแค่เรื่องของขวาร้ายซ้ายดี ?

ตาเขม่นหรือที่ใครหลายคนเรียกว่า ตากระตุก อาการนี้เราคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่เขาบอกมาว่า หากตากระตุกข้างซ้าย นั่นคือลางดีที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ถ้าตากระตุกข้างขวาขึ้นมา แสดงว่างานกำลังจะเข้าแล้วล่ะนะ เอาล่ะสิ ! ตากระตุกเป็นสัญญาณบอกเหตุได้ หรือแท้จริงแล้วตากระตุกเป็นเพียงความผิดปกติเล็ก ๆ ของร่างกายเท่านั้น ?

ตากระตุกเกิดจากอะไร

          ตากระตุกหรือหนังตากระตุก ไม่ว่าจะเป็นตากระตุกข้างซ้ายหรือตากระตุกข้างขวา ทางการแพทย์ได้จัดว่า อาการตากระตุกเกิดจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณตาหดเกร็ง ซึ่งเกิดจากการถูกกระตุ้นที่ผิดปกติของเส้นประสาทบริเวณนั้น โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดตากระตุกได้ก็จะมีทั้งการพักผ่อนไม่เพียงพอ การรับประทานชากาแฟซึ่งทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนปริมาณมากเกินไป หรือความเครียดและความกังวลก็ทำให้เกิดตากระตุกได้ทั้งซ้ายและขวาเช่นกัน

ตากระตุกบ่อย ตากระตุกหลายวัน อันตรายไหม ?


          อาการ ตากระตุกเป็นเพียงความผิดปกติในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็จริง ทว่านายแพทย์นนท์ รัตนิน จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลจักษุรัตนิน บอกว่า หากตากระตุกบ่อยและกระตุกนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการตากระตุกร่วมกับกล้ามเนื้อบริเวณอื่น ๆ เช่น มุมปากและแก้มกระตุกร่วมด้วย มีอาการตาบวมแดงหรือมีขี้ตาร่วมด้วย รวมถึงหากตากระตุกมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้หนังตาปิด กรณีเหล่านี้จักษุแพทย์ก็แนะนำให้มาตรวจเช็กอาการที่โรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ ที่แท้จริง

ตากระตุกแบบไหนเข้าข่ายเป็นโรค

          แพทย์หญิงไรนา จินดาศักดิ์ โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า อาการตากระตุกสามารถเข้าข่ายของกลุ่มโรคได้เช่นกัน โดยกลุ่มแรกเรียกว่า Essential Blepharospasm ซึ่งคนไข้จะมีอาการตากระตุกเฉพาะบริเวณหนังตาเพียงอย่างเดียวและมักจะกระตุกข้างเดียวในเบื้องต้น ทว่าจากที่ตากระตุกนาน ๆ ครั้ง

          ต่อมาตาจะกระตุกถี่ขึ้น มีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มลามไปกระตุกที่ตาอีกข้าง ซึ่งแพทย์ก็บอกว่าเป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุ และอาจจะไม่มีอันตรายร้ายแรงเท่าไร เพียงแต่อาจสร้างความรำคาญและสร้างอุปสรรคในการดำเนินชีวิตนิดหน่อยเท่านั้น และแพทย์ก็รักษาอาการได้เพียงให้ยาที่บรรเทาอาการเคืองตาหรือน้ำตาเทียม หรืออาจแนะนำให้งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมไปถึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ หรือสำหรับบางเคสอาจแนะนำให้ฉีดโบท็อกซ์ในการรักษาความผิดปกติของกล้ามเนื้อก็ได้ เนื่องจากตัวยาสำหรับรักษาอาการตากระตุกมักจะมีผลข้างเคียงที่เยอะ บวกกับความรุนแรงของโรคก็ถือว่าค่อนข้างน้อย จึงไม่นิยมนำมารักษาอาการตากระตุกนั่นเองนะคะ

          ส่วนอีกภาวะหนึ่ง คือ Hemi facial Spasm โดยอาการจะมีทั้งตากระตุกและกล้ามเนื้อใบหน้าลามไปถึงลำคอซีกนั้นกระตุกไป พร้อมกันด้วย ซึ่งภาวะนี้แพทย์ได้เตือนให้ระวัง เนื่องจากเป็นอาการที่บ่งบอกได้ว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับเส้นประสาทคู่ที่ 7 ในสมองของคุณ ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบนใบหน้า โดยอาการผิดปกติที่ว่าอาจเป็นได้ทั้งเส้นเลือดบริเวณเส้นประสาทนั้นขดงอ หรือมีเนื้องอกไปกดทับเส้นประสาทจนเป็นสาเหตุของตากระตุกและกล้ามเนื้ออื่น ๆ กระตุกไปด้วย ทั้งนี้กรวินิจฉัยเบื้องต้นต้องอาศัยการสแกนสมองเพื่อหาความบกพร่องของเส้น ประสาท เพื่อที่แพทย์จะได้หาวิธีรักษากันต่อไป

เอาล่ะ ! รู้จักสาเหตุตากระตุกแล้ว มาดูความเชื่อคำทำนายตากระตุกกันบ้าง  


ตากระตุกในตอนเช้า (นับจากตื่นนอน ใกล้รุ่ง)

          ตากระตุกข้างขวา : จะมีญาติมิตรต่างแดนมาหา

          ตากระตุกข้างซ้าย : จะมีปากเสียงทะเลาะวิวาท หรือมีเรื่องเดือดร้อนมาสู่


ตากระตุกในตอนสาย (09.00-12.00)

          ตากระตุกข้างขวา : ญาติมิตรต่างแดนหรือต่างแดนหรือต่างจังหวัดจะนำลาภมาให้

          ตากระตุกข้างซ้าย : จะเกิดเรื่องไม่ดีงามภายในครอบครัว


ตากระตุกในตอนบ่าย (13.00-16.00 น.)

          ตากระตุกข้างขวา: การที่คิดไว้หรือกำลังทำอยู่จะประสบผลสำเร็จ

          ตากระตุกข้างซ้าย : จะมีเพศตรงข้ามกล่าวขวัญถึงหรืออาจมาหา


ตากระตุกในตอนเย็น (17.00-19.00 น.)

          ตากระตุกข้างซ้าย: จะมีญาติหรือเพื่อนสนิทที่อยู่ห่างไกลมาเยี่ยม

          ตากระตุกข้างขวา : จะได้พบญาติหรือมิตรสหายที่จากกันไปนานโดยไม่นึกไม่ฝัน


ตากระตุกในตอนกลางคืน (19.00 น. เป็นต้นไป)

          ตากระตุกข้างซ้าย: จะมีข่าวดีมาถึงในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น หรือจะได้ลาภจากผลงานที่ทำไว้

          ตากระตุกข้างขวา: จะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับคนในครอบครัว

 
          ตากระตุกข้างซ้ายหรือตากระตุกข้างขวาก็เป็นเพียงอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่หากใครจะเชื่อถือคำโบราณที่บอกว่าตากระตุกเป็นลางบอกเหตุร้ายและแจ้งเหตุดีก็ไม่แปลกอะไร เพียงแค่อย่างมงายจนลืมสังเกตุความผิดปกติของร่างกายตัวเองก็พอนะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา สสวท.
โรงพยาบาลสมิติเวช

No comments:

Post a Comment