Sunday, March 6, 2016

10 คำถามสำคัญเพื่ออนามัยในตู้เย็น รู้ไว้ซะก่อนจะสายเกินแก้ !




         แน่ใจแล้วหรือว่าอาหารทุกอย่างที่แช่ไว้ในตู้เย็นจะปลอดภัยไร้เชื้อโรค จริง เพราะบางทีอาหารที่แช่ในตู้เย็นก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โรคภัยถามหาบ่อย ๆ ก็ได้นะ

         หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่ชอบเอาอาหารแช่ตู้เย็นทิ้งไว้นานข้ามคืน เพราะคิดว่าอาหารที่แช่ตู้เย็นแล้ว ยังไงก็ไม่มีทางเน่าเสียเด็ดขาด ขอบอกเลยว่าสิ่งที่คุณคิดอาจไม่เป็นความจริงเสมอไป วันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอนำ 10 คำถามสำคัญเพื่ออนามัยในตู้เย็นจากนิตยสาร Lisa มาฝากกัน จะได้รู้ให้แน่ชัดว่าการเก็บอาหารในตู้เย็นของคุณถูกต้องแล้วจริงหรือ


10 คำถามสำคัญเพื่ออนามัยในตู้เย็น How Safe is Your Fridge ? (Lisa)

         การรู้กฎของการเก็บอาหารในตู้เย็น นอกจากทำให้คุณได้กินอาหารอร่อยและรสชาติดีแล้ว ยังรักษาสุขภาพได้มากอีกด้วย เพราะหากเก็บอย่างไม่ระวัง Lisa ขอเตือนเลยค่ะว่าอาจท้องเสียหรือเกิดอาหารเป็นพิษได้นะ มาทำแบบทดสอบเหล่านี้ดีกว่า รับรองไม่เสียเวลาค่ะ

1. คุณเก็บเนื้อที่ทำสุกแล้วไว้ในตู้เย็นนานแค่ไหน

       o เป็นสัปดาห์แหละ
       o ไม่เกิน 3 วัน

       เฉลย : ไม่ควรเก็บไว้ในตู้เย็นนาน 2-3 วันนะ การเก็บอาหารปรุงสุกแล้วไว้ในตู้เย็นไม่สามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ แค่ช่วยชะลอการเติบโตของเชื้อเท่านั้น หากคุณยิ่งเก็บนานวันเข้า กระเพาะของคุณก็ยิ่งต้องผจญกับความเสี่ยงกับการเกิดอาหารเป็นพิษสูงขึ้นเท่า นั้น

2. ปลอดภัยไหม ถ้ากินขนมปังขึ้นรา

       o ใช่ ถ้าคุณตัดเอาส่วนที่มีชิ้นราออกนะ
       o ขอบายดีกว่า ยังไงก็ไม่น่ากิน

       เฉลย : ตัดใจแล้วโยนมันทิ้งไปเถอะ เพราะเชื้อราที่คุณเห็นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ปรากฏออกมาให้คุณเห็นอย่างแน่นอน เพราะเชื้อราตระกูล Mycelium ที่เติบโตอยู่ในขนมปังของคุณมีแนวโน้มว่ากำลังก่อตัวในส่วนอื่นของก้อนขนม ปังด้วย สิ่งนี้อาจทำให้คุณเป็นโรคติดเชื้อจากเชื้อราได้ แม้จะไม่พบโรคนี้บ่อย แต่ก็ไม่คุ้มที่จะกินขนมปังแข็ง ๆ ยี้ ๆ จริงไหมล่ะ

3. ปลอดภัยไหมหากจะกินอาหารที่เลยวันหมดอายุไปแค่ 1-2 วัน

       o แน่นอน ถ้ากลิ่นยังโอเคอยู่นะ
       o อย่าดีกว่า วันหมดอายุมีความหมายนะ

       เฉลย : ขึ้นอยู่กับประเภทของการระบุวัน คำว่า Best Before หมายถึงคุณภาพดีที่สุดก่อนวันที่ระบุ ดังนั้นสามารถกินหลังวันที่ระบุได้ แต่สำหรับ Use-by Date ไม่ควรกินหลังวันที่ระบุ เพราะหมายถึงจะไม่ปลอดภัยหากกินหลังวันดังกล่าวแน่ ๆ แต่คำว่า Use-by Date มักมีอยู่บนกล่องอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพเท่านั้น

4. ควรละลายอาหารแช่แข็งประเภทเนื้ออย่างไร

       o ทิ้งไว้ให้น้ำแข็งละลายเองที่อุณหภูมิห้อง
       o แช่ไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาข้ามคืนเลย

       เฉลย : งานนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้อค่ะ คุณควรละลายอาหารแช่แข็งชิ้นใหญ่ในตู้เย็นช่องธรรมดา เพราะหากคุณทิ้งเนื้อก้อนใหญ่ให้น้ำแข็งละลายเองบนเคาน์เตอร์ทำกับข้าว บริเวณด้านนอกของเนื้อ อาจเริ่มบูดเน่าก่อนที่น้ำแข็งส่วนกลางก้อนเนื้อจะละลายด้วยซ้ำ และคุณสามารถใช้ปุ่มดีฟรอสต์ (Defrost) ในไมโครเวฟ โดยควรปรุงเนื้อนั้นไม่เกินหนึ่งวันหลังดีฟรอสต์แล้ว และห้ามใส่เนื้อแข็ง ๆ ทั้งก้อนลงปรุงอาหารเด็ดขาด เพราะเนื้อจะยุ่ยและไม่อร่อยแน่ ๆ

5. ควรรีบเก็บอาหารเหลือค้างเร็วแค่ไหน

       o เท่าที่คุณจะทำได้ล่ะ
       o ต้องรอจนกว่ามันจะเย็นก่อนนะ

       เฉลย : การวางอาหารเหลือไว้ข้างนอกนานเกินไป อาจเสี่ยงกับเชื้อแบคทีเรีย เพราะแบคทีเรียสามารถโตได้เมื่ออาหารมีอุณหภูมิประมาณอุณหภูมิห้องเท่านั้น เอง แต่ก็ควรจำไว้ให้แม่นว่าไม่ควรแช่อาหารร้อน ๆ ในตู้เย็นเช่นกัน เพราะความร้อนจากอาหารจะทำให้ตู้เย็นเกิดความร้อน และทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้เช่นกัน ดังนั้นรอจนอาหารเย็นลงแล้ว จากนั้นรีบใส่เข้าไปในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งเลยค่ะ

6. จำเป็นจริงเหรอที่ต้องล้างผักและผลไม้

       o ไม่จำเป็นหรอก ผงนิดหน่อยทำร้ายใครไม่ได้
       o ควรค่ะ เพื่อเอาแบคทีเรียออกนะ

       เฉลย : ทุกชนิดอาหารมีความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป บางชนิดอาจมีเชื้อแบคทีเรียรุนแรงแฝงอยู่ อย่างพวกผักใบเขียวที่กินกับสลัดอาจมีสาร Salmonella ซึ่งมีพิษอย่างมาก ผักและผลไม้บางชนิดมีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อปรสิตหรือ Toxoplasmosis ทำให้เกิดโรคติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอันตรายมาก ๆ สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นควรแช่ผลไม้และผักไว้ในน้ำสะอาด แล้วล้างหลาย ๆ น้ำจะดีที่สุด

7. ควรล้างเนื้อไก่สด ๆ ก่อนนำมาปรุงอาหารไหมคะ

       o ใช่ เพื่อเอาเชื้อแบคทีเรียออก
       o ไม่เลย มันไม่จำเป็นหรอก

       เฉลย : ตามมาตรฐานของเนื้อสด ไม่ว่าประเทศไหนก็แนะนำให้ล้างก่อนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว หมู หรือไก่ เนื่องจากอาจมีสารตกค้างที่ชื่อ Salmonella และแบคทีเรีย Campylobacter หลุดลงไปผสมกับอาหารอื่น ๆ ที่ปรุงสุกพร้อมเนื้อด้วยก็ได้ แต่ไก่จะมีสารทั้ง 2 อย่างนี้สูงสุด ดังนั้นควรล้างให้สะอาดก่อนนำไปปรุงทุกครั้งนะ

8. จะดีไหมถ้าติดอาหารเหลือในตู้เย็นไปกินที่ทำงานในวันต่อไปด้วย

       o ไม่นะ เสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษแน่ ๆ
       o ได้แน่นอน ตราบเท่าที่คุณเก็บรักษามันอย่างดี

       เฉลย : ใช่ค่ะ การนำอาหารเหลือจากเมื่อวานติดตัวมากินเป็นมื้อเที่ยงที่ออฟฟิศด้วยถือเป็น ไอเดียสุดแจ่ม แต่คุณต้องทำตามกฎคือ แช่อาหารในตู้เย็นทันทีที่เริ่มเย็นลง และเมื่อคุณถึงที่ทำงานก็ควรนำไปแช่ที่ตู้เย็นของออฟฟิศโดยด่วน ตอนกลางวันให้อุ่นในไมโครเวฟนาน ๆ จนเดือด แต่จำไว้ว่าข้าวถือเป็นข้อยกเว้น เพราะในข้าวมีเชื้อราที่เรียกว่า Bacillus Cereus ซึ่งแม้จะอุ่นนานมากเชื้อราก็ยังรอดชีวิตได้ ซึ่งหากกินเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นควรแช่ข้าวให้เร็วที่สุด นำมาอุ่นให้ร้อนจัด และไม่ควรกินหลังจากเก็บไว้นานเกินหนึ่งวัน

9. ฉันสามารถกินอาหารที่ถูกเก็บแอบไว้ด้านในสุดของช่องแข็งเกือบปีแล้วได้ไหม ?

       o ไม่นะ คุณไม่ควรแช่แข็งอะไรนานกว่า 3 เดือน
       o แน่นอน คุณสามารถเก็บอาหารฟรีซแล้วเอาออกมากินได้อย่างไม่มีกำหนดเลยล่ะ

       เฉลย : คุณอาจแปลกใจที่โภชนาการส่วนใหญ่ต่างตอบว่าได้ บางท่านถึงกับแนะนำให้สาวออฟฟิศที่มีเวลาน้อยแบ่งอาหารหลังปรุงสุกลงในถุง ขนาดเล็กหลาย ๆ ถุงเพื่อนำออกมาละลายน้ำแข็งแล้วกินได้ด้วยนะ เพราะหากคุณรู้จักแช่อาหารในช่องแข็งให้เหมาะสมก็ถือว่าปลอดภัยที่จะนำมากิน แต่จำไว้ว่าอาหารเหล่านั้นจะไม่สดและเสื่อมคุณภาพลงตามกาลเวลา แถมรสชาติจะไม่อร่อยเหมือนตอนที่เพิ่งปรุงสุกด้วย และเมื่อนำอาหารที่เก็บไว้นานมาอุ่น หากกินไม่หมดห้ามนำกลับไปเก็บในช่องแช่แข็งอีกรอบนะ รับรองมีเชื้อแบคทีเรียแน่

10. จำเป็นไหมที่ควรกินอาหารในแพ็กให้หมดภายใน 3 วัน

       o ไม่ เพราะทางผู้ผลิตแค่เตือนให้ระวังมากเกินไป
       o ควรนะ แม้กระทั่งกลิ่นยังดีอยู่ก็เถอะ

       เฉลย : สำคัญมากที่จะยึดอยู่กับหลักภายใน 3 วันนี้ เพราะในอาหารแพ็กจะผ่านเทคโนโลยีลดแบคทีเรีย ซึ่งจะเสื่อมทันทีเมื่อเปิดออก แถมอาหารที่เปิดแล้วอาจถูกปนเปื้อนจากสิ่งอื่น ๆ ที่แช่อยู่ในตู้เย็นหรือในห้องครัว ดังนั้นแค่ 3 วันพอจริง ๆ ค่ะ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Lisa
http://home.kapook.com/view142904.html

No comments:

Post a Comment