Friday, February 24, 2017

10 ประโยชน์ของกล้วยหอม ลองแล้วจะรัก ช่วยลดน้ำหนักก็ได้ !




        ประโยชน์ของกล้วยหอมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน แต่ถ้าลองได้รู้แล้วจะหลงรัก จนอยากปักหลักกินแต่กล้วยหอมเลยก็เป็นได้ !

          กล้วย เป็นผลไม้ที่หากินได้ง่ายในบ้านเรา แถมยังมีกล้วยให้เลือกกินอยู่หลายชนิดด้วยกันอีกต่างหาก ทว่ากล้วยที่ได้กินกันบ่อย ๆ ก็คงหนีไม่พ้นกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยหอม เพราะนอกจากจะกินกล้วยเป็นผลไม้แล้ว กล้วยแต่ละชนิดยังนำไปทำขนมอร่อย ๆ ได้อีกด้วยเนอะ แต่ครั้นจะกินกล้วยไปวัน ๆ โดยไม่รู้จักประโยชน์ของกล้วยกันเลย นั่นก็ไม่ใช่สไตล์เราค่ะ ดังนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักสรรพคุณของกล้วยหอม มาดูซิว่าประโยชน์ของกล้วยหอมต่อสุขภาพ มีอะไรเด็ด ๆ จนต้องร้องว้าวกันบ้าง

          อ่อ...แต่ก่อนจะไปเจาะลึกถึงประโยชน์ของกล้วยหอมกัน เราจะพาทุกท่านมาดูข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กันก่อนว่า คุณค่าทางโภชนาการของกล้วยหอมในปริมาณ 100 กรัม มีสารอาหารที่สำคัญอะไรบ้าง


คุณค่าทางโภชนาการของกล้วยหอม ปริมาณ 100 กรัม (ประมาณ 1 ลูกขนาดกลาง)

          - พลังงาน 132 กิโลแคลอรี

          - น้ำ 66.3 กรัม

          - โปรตีน 0.9 กรัม

          - ไขมัน 0.2 กรัม

          - คาร์โบไฮเดรต 31.7 กรัม

          - ไฟเบอร์ 1.9 กรัม

          - ซัลเฟต 0.9 กรัม

          - แคลเซียม 26 มิลลิกรัม

          - ฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม

          - เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม

          - เบต้า-แคโรทีน 99 ไมโครกรัม

          - วิตามินเอ 17 ไมโครกรัม

          - วิตามินบี 1 (ไทอะมีน) 0.04 มิลลิกรัม

          - วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 0.07 มิลลิกรัม

          - ไนอะซีน 0.1 มิลลิกรัม

          - วิตามินซี 27 มิลลิกรัม



ประโยชน์ของกล้วยหอมต่อสุขภาพ



1. ช่วยป้องกันกระดูกเปราะ

          จะเห็นได้ชัดว่ากล้วยหอมมีฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง ซึ่งสารอาหารชนิดนี้จะมีส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกเราได้ อีกทั้งในกล้วยหอมก็ยังมีแคลเซียมช่วยเสริมความแข็งแกร่งของกระดูกส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้อีกทาง

2. ต้านอนุมูลอิสระ

          กล้วยเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีอยู่พอสมควร ดังนั้นจะถือเป็นผลไม้ต้านอนุมูลอิสระตัวหนึ่งก็ไม่ผิดนัก อีกทั้งวิตามินซีที่มีอยู่ในกล้วยยังจะช่วยเสริมความแข็งแรงของหลอดเลือด และป้องกันโรคลักปิดลักเปิดได้ด้วยนะคะ

3. ช่วยคลายเครียด




          เมื่อร่างกายตกอยู่ในสภาวะเครียด ความดันเลือดก็จะสูงขึ้น ส่งผลให้เรารู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว หรืออาจก่อให้เกิดอาการปวดหัวตุบ ๆ ได้ ซึ่งจุดนี้โพแทสเซียมและวิตามินในกล้วยหอมจะช่วยลดความดันเลือดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงทำให้ร่างกายลดระดับความตึงเครียดลงไปด้วยนั่นเอง

4. บำรุงสายตา

          กล้วยหอมพกมาทั้งวิตามินเอ และเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญต่อสุขภาพดวงตา มีส่วนช่วยบำรุงการทำงานของระบบประสาทตา จึงสามารถบำรุงสายตาและการมองเห็นได้เป็นอย่างดี

5. แก้ท้องผูก



          ไฟเบอร์ที่มีอยู่ในกล้วยหอมเป็นไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ซึ่งดีต่อระบบขับถ่ายของเรามากเลยทีเดียว ดังนั้นใครมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ ลองกินกล้วยหอมให้ได้ทุกวัน วันละ 1 ลูก ก็น่าจะช่วยแก้ท้องผูกให้คุณได้
6. ช่วยเติมพลังให้ร่างกาย

          บทบาทนี้ของกล้วยหอมต้องยกความดีความชอบให้กับวิตามินซีเลยค่ะ เพราะวิตามินซีมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการผลิตพลังงานของร่างกาย ฉะนั้นใครอยากเติมพลังให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า กล้วยหอมสักลูกก็ช่วยได้ โดยเฉพาะหากกินกล้วยหอมก่อนออกกำลังกาย ก็จะช่วยให้อึดขึ้นด้วย

7. แก้นอนไม่หลับ

          กินกล้วยหอมก่อนนอนก็เป็นอีกหนึ่งวิธีแก้นอนไม่หลับได้ค่ะ เพราะกล้วยหอมอุดมไปด้วยกรดอะมิโนและทริปโตเฟน สารประกอบสำคัญของการสร้างเซโรโทนิน ฮอร์โมนในร่างกายที่ช่วยให้หลับง่ายขึ้น ดังนั้นใครมีอาการนอนหลับกระสับกระส่าย นอนไม่หลับบ่อย ๆ แนะนำให้กินกล้วยหอมหลังมื้อเย็นแล้วค่อยอาบน้ำนอน


8. ช่วยย่อยอาหาร

          กากอาหารในกล้วยหอมจะช่วยให้การทำงานของระบบย่อยอาหารคล่องตัวมากขึ้น ยิ่งถ้ากินกล้วยหอมได้บ่อย ๆ ก็จะช่วยปรับจูนระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้เป็นปกติดี ชนิดที่เราไม่จำเป็นต้องพึ่งยาช่วยย่อยกันอีกเลย

9. กินกล้วยหอมลดความอ้วนก็ได้ !

          ขอออกตัวก่อนค่ะว่ากล้วยหอมไม่ใช่ผลไม้แคลอรีต่ำ เพราะแคลอรีในกล้วยหอม 1 ลูกย่อม ๆ ก็ให้พลังงานประมาณ 132 กิโลแคลอรีกันเลย ทว่าจุดเด็ดที่ทำให้กล้วยหอมช่วยลดน้ำหนักได้ก็คือ กล้วยมีวิตามิน B1 และ B2 คอยช่วยเร่งการเผาผลาญน้ำตาลและไขมัน อีกทั้งยังมีคาร์โบไฮเดรตชนิดดีต่อร่างกาย มีไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ดังนั้นเมื่อกล้วยตกเข้าไปในระบบย่อยอาหารจึงดูดซับน้ำ พองตัวและช่วยทำให้ท้องรู้สึกอิ่มได้นานขึ้น

          อ้อ ! ขอแถมให้อีกหนึ่งทริค ถ้าอยากกินกล้วยหอมลดน้ำหนักจริง ๆ แนะนำให้กินกล้วยหอมตอนเช้า เพราะน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรต
ในกล้วยหอมจะช่วยลดความอยากอาหารหวาน ๆ ของร่างกาย ทำให้เราควบคุมอาหารได้ดีขึ้น



10. บำรุงหัวใจ

          ในกล้วยหอมมีวิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้อีกด้วย ที่สำคัญเบต้า-แคโรทีนในกล้วยหอมยังมีส่วนช่วยบำรุงความสมบูรณ์แข็งแรงของหลอดเลือดเราได้อีกทาง ดังนั้นพยายามกินกล้วยหอมให้ได้ทุกวันก็จะดีต่อใจมาก ๆ เลยล่ะ


สรรพคุณกล้วยหอมพร้อมเป็นยา

1. เป็นยาทำให้ปอดชุ่ม รักษาโรคร้อน กระหายน้ำ

          ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน กล้วยหอมมีรสเย็น และเข้าเส้นลมปราณปอด จึงมีการนำกล้วยหอมมารักษาโรคร้อน กระหายน้ำ แก้เมาแฮงก์ แก้ไอเรื้อรังจากอาการคอแห้ง เพียงแค่กินกล้วยหอมสุกหรือสมูทตี้กล้วยหอมก็ได้

2. รักษาความดันโลหิตสูง

          ตำรับยาสมุนไพรใช้เปลือกกล้วยหอมสด 30-60 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาหม้อช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ หรือหากต้มปลีกล้วยกินเป็นประจำ จะช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองแตกได้
3. รักษาโรคริดสีดวงทวาร

          ใครมีอาการท้องผูก หรือเป็นริดสีดวงทวาร ตำรับนี้จะช่วยแก้อาการให้คุณได้ เพียงแค่กินกล้วยหอมสุก 1-2 ลูกทุกเช้าขณะท้องว่างเป็นประจำ

4. รักษาอาการมือ-เท้าแตก

          เปลือกกล้วยหอมยังมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการมือ-เท้าแตกได้ด้วยนะคะ โดยนำกล้วยหอมที่สุกเต็มที่มาเจาะรูเล็ก ๆ ที่ปลายข้างหนึ่ง แล้วบีบเอากล้วยออกมาทาที่เท้าแตก ทิ้งไว้หลาย ๆ ชั่วโมงหน่อยแล้วค่อยล้างออก ทำบ่อย ๆ ผิวที่เคยแห้งแตกจะชุ่มชื้นและดูดีขึ้นได้


โทษของกล้วยหอม

          ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ อย่างกล้วยหอมเองก็มีข้อควรระวังในการรับประทานด้วย ซึ่งก็คือไม่ควรกินกล้วยหอมมากเกิน
 


ขนาด สักวันละ 1-2 ลูกก็เพียงพอ เพราะกล้วยหอมมีฤทธิ์เย็น ไม่เหมาะต่อคนที่มีอาการท้องอืด มีลมในท้องมาก มีเสมหะมากเนื่องจากอาการม้ามพร่อง เพราะอาจทำให้อาการเหล่านี้ยิ่งกำเริบได้

          ขอทิ้งท้ายไว้นิดนึงว่า สำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก อย่าลืมนะคะว่ากล้วยก็มีแคลอรีพอประมาณ ถ้ากินเกินวันละ 2 ลูกก็ให้พลังงานเกือบ 300 กิโลแคลอรีแล้ว ฉะนั้นเลือกกินอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารได้ครบถ้วน และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำจะดีกว่า
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
กองโภชนาการ กรมอนามัย
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
livescience
authoritynutrition
เครดิตภาพ  https://health.kapook.com/view166598.html



 


No comments:

Post a Comment