Sunday, October 30, 2016

10 วิธีเก็บรักษาหนังสือพิมพ์ ให้อยู่ในสภาพดีและคงเดิมไปนาน ๆ




         วิธีเก็บหนังสือพิมพ์ ให้คงสภาพเดิมไปนาน ๆ ไม่เก่า ไม่ซีดจาง และไม่เหลือง อยากรู้ว่าเก็บหนังสือพิมพ์อย่างไรไม่ให้เก่าเร็ว มาดู 10 วิธีเก็บหนังสือพิมพ์ แล้วนำไปใช้กันเลย

          เนื่องจากตอนนี้หลายคนตามซื้อหนังสือพิมพ์เพราะอยากเก็บความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับในหลวงเอาไว้ แต่ไม่รู้จะเก็บรักษาหนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญแบบนี้อย่างไรให้อยู่ในสภาพดีและคงสภาพหนังสือสีสด ๆ แบบนี้ไว้ไปนาน ๆ กระปุกดอทคอมเลยรวบรวมวิธีการเก็บรักษาหนังสือพิมพ์มาฝาก เพื่อรักษาเนื้อข่าวและรูปภาพเอาไว้ ไม่ให้สีซีดจาง ดูเก่า และเนื้อกระดาษเปลี่ยนเป็นสีเหลือง


1. ทำความสะอาดบริเวณที่เก็บ

           เพราะสิ่งสกปรกคือตัวการสำคัญที่ทำให้หนังสือพิมพ์ดูเก่าและเปลี่ยนสี ดังนั้นก่อนจะหยิบจับหนังสือพิมพ์เล่มที่ต้องการเก็บ ควรจะล้างมือให้สะอาดหรือสวมถุงมือผ้าคอตตอนซะก่อน แล้วจัดเก็บพื้นที่บริเวณที่เก็บหนังสือพิมพ์ให้สะอาดปราศจากฝุ่นควัน ที่สำคัญบริเวณนั้นห้ามนำอาหารเข้ามารับประทานใกล้ ๆ จุดเก็บหนังสือพิมพ์ด้วยก็จะดี

2. ห้ามพับหนังสือพิมพ์ให้เกิดรอย

           ลักษณะการเก็บหนังสือพิมพ์จะต้องเก็บให้อยู่ในลักษณะแบนราบ ห้ามพับให้เกิดรอยเด็ดขาด ไม่ว่าจะพับด้านมุมหรือพับแบ่งครึ่ง เพราะจะทำให้หนังสือพิมพ์เสียรูปทรง แต่ถ้าหนังสือพิมพ์ที่ได้รับมามันถูกพับอยู่แล้ว ก็ให้เก็บไว้ในลักษณะนั้น แค่อย่าพับให้เกิดรอยใหม่เพิ่มก็พอ

3. ไม่ควรเก็บไว้ใกล้ของมีคม

           เพราะหนังสือพิมพ์ผลิตจากกระดาษ โดนอะไรนิดหน่อยก็เสียหายได้โดยเฉพาะของมีคม ดังนั้นเราจึงไม่ควรเก็บหนังสือพิมพ์ให้อยู่ใกล้กับสิ่งของหรืออุปกรณ์มีคม ที่อาจจะไปทำลายหนังสือพิมพ์ได้ เช่น กรรไกร มีด คัตเตอร์ หรือของที่มีแถบกาว

4. เก็บให้พ้นแสง

           แสง คือตัวการสำคัญที่ทำให้หนังสือพิมพ์เก่า นาน ๆ ไปอาจจะอยู่ในสภาพกรอบและซีดจาง ฉะนั้นหลังจากที่ได้หนังสือพิมพ์มาแล้ว ควรเก็บไว้ในที่ที่อับแสงหรือที่มืด แต่ห้ามเก็บไว้ในมุมอับความชื้นสูง หรือเก็บไว้ในกล่องกระดาษหรือกล่องไม้ที่มีฝาปิดมิดชิด เพราะไม้จะช่วยลดกรดที่ทำให้หนังสือพิมพ์เปลี่ยนสีได้ด้วยค่ะ 

5. คั่นทุกหน้าด้วยกระดาษไร้กรด

           แม้บางคนจะบอกว่าเก็บหนังสือพิมพ์ไว้อย่างดีแล้ว แต่ทำไมหนังสือพิมพ์ยังดูเก่า นั่นก็เป็นเพราะว่าในหนังสือพิมพ์มีความเป็นกรดอยู่มากและหนังสือพิมพ์แต่ละหน้าก็ตั้งอยู่ในลักษณะทับซ้อนกัน จึงทำให้ปริมาณกรดมากขึ้นและค่อย ๆ ทำลายกระดาษไปทีละนิด หากหาซื้อกระดาษไร้กรดมาคั่นหนังสือพิมพ์ไว้ทุกหน้า ไม่ให้กระดาษหนังสือพิมพ์ทับกัน ก็จะช่วยรักษาสภาพให้คงเดิมไปอีกนาน

6. เก็บตามหมวด

           หากอยากให้หนังสือพิมพ์หาง่ายขึ้น อาจจะจัดเก็บตามวันที่ ตามอักษร หรือตามเหตุการณ์สำคัญ ก็จะทำให้สะดวกเวลาค้นหาและหยิบมาใช้งาน ไม่ต้องรื้อค้นกระจัดกระจาย จนอาจจะทำให้หนังสือพิมพ์ที่รื้อออกมาชำรุดเสียหาย

7. ใส่กรอบรูปกันแสงยูวี

           ถ้าต้องการนำส่วนสำคัญในหนังสือพิมพ์ออกมาตั้งโชว์ แต่กลัวแสงแดดทำลายหนังสือพิมพ์ ก็ให้นำกระดาษลังมาทำเป็นแผ่นรองด้านหลังหนังสือพิมพ์ แล้วปิดด้วยกระจกชนิดกันแสงยูวี เอาไปใส่กรอบไม้ ก่อนนำไปติดผนังหรือตั้งโชว์ เพียงเท่านี้หนังสือพิมพ์ก็จะคงสภาพเดิมไปอีกนาน

8. เก็บในที่เย็นแต่ไม่ชื้น

           นอกจากแสงจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำร้ายหนังสือพิมพ์แล้ว อุณหภูมิในการเก็บก็สำคัญไม่แพ้กัน แนะนำให้เก็บหนังสือพิมพ์เอาไว้ในที่มืด มีความเย็นแต่มีความชื้นไม่สูงหรือในที่ที่มีองศาอยู่ที่ระหว่าง 15-21 องศาเซลเซียส และมีความชื้นในอากาศประมาณ 40% ถึงจะเป็นอุณหภูมิที่เหมาะกับการเก็บหนังสือพิมพ์ 

9. เคลือบขี้ผึ้ง

           อีกหนึ่งทางเลือกในการเก็บถนอมหนังสือพิมพ์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทั้งยังช่วยกันน้ำและสิ่งสกปรกอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยการนำบีแว็กซ์หรือขี้ผึ้งธรรมชาติมาตั้งไฟอ่อน ๆ จนละลาย จากนั้นหนังสือพิมพ์ชุบลงไปช้า ๆ ให้ทั่วทั้งหน้าทีละแผ่น แล้วรีบดึงขึ้นมาทันที ถือค้างไว้ให้ขี้ผึ้งหยดจนหมดและแห้ง จึงค่อยนำไปวางพักไว้

10. ตัดเฉพาะที่อยากเก็บไว้

           เริ่มจากตัดข่าวที่เป็นส่วนสำคัญออกมา นำไปแช่ในน้ำกลั่นบริสุทธิ์ประมาณ 20 นาที นำออกมาวางทิ้งไว้ให้แห้งบนพื้นแบนราบ ที่สำคัญอากาศบริเวณนั้นต้องเป็นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ หากอุณหภูมิสูงจะทำให้กระดาษงอตัว เมื่อกระดาษหนังสือพิมพ์แห้งดีแล้ว ก็ใช้สเปรย์พ่นให้ทั่วเพื่อเคลือบกระดาษเอาไว้ รอให้แห้ง แล้วค่อยนำไปใส่ในซองพลาสติก เก็บไว้ในกล่องที่ปิดมิดชิด หรือจะเก็บใส่กรอบรูปกันรังสียูวีเพื่อตั้งโชว์ก็ได้ค่ะ

           ต่อให้กาลเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน หนังสือพิมพ์ที่คุณอยากจะเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก ก็จะไม่ชำรุดเสียหายอย่างแน่นอน หากใครที่กำลังมองหาวิธีการเก็บหนังสือพิมพ์ให้อยู่ในสภาพดี ก็อย่าลืมนำวิธีเหล่านี้ไปใช้กันดูนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก wikihow, Craftingagreenworld, Ehow และ Howcast
ภาพจาก nattapan72 / Shutterstock.com



No comments:

Post a Comment