Saturday, April 26, 2014

อากาศร้อน อย่าร้อนใจ ดูแลสุขภาพจิต-กาย กันเถอะ




         อากาศร้อน ๆ ทำคนเครียดง่ายขึ้น ถ้าไม่อยากร้อนใจตาม ต้องหาทางจัดการความเครียด รับมือปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพใจด่วนเลย

          ร้อน ร้อน ร้อน...ทำไมอากาศถึงได้ร้อนระอุเหมือนอยู่ในเตาอบขนาดนี้เน้อ ยิ่งร้อนกายขึ้นมากเท่าไร ปัญหาสุขภาพก็ตามมาเป็นโขยง ที่ต้องระวังให้มากที่สุดก็คือ โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) เพราะเป็นโรคที่อาจทำให้เสียชีวิตจากความร้อนได้เลย แต่ไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพทางกายเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากความร้อน เพราะปัญหาสุขภาพจิตสุขภาพใจก็ต้องระวังไม่แพ้กัน

          โดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า นอกจากความร้อนจะกระทบต่อสุขภาพกายแล้ว อากาศร้อนยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอีกด้วย ที่เห็นได้ชัด คือ จะทำให้หงุดหงิดง่ายขึ้น ส่งผลให้มีความทนทานต่อความเครียดน้อยลง เมื่อมีอะไรมากระตุ้นกับจิตใจก็จะทำให้เครียดง่ายกว่าปกติ และอาจเกิดการตัดสินใจที่ไม่ได้ยั้งคิดต่าง ๆ ตามมา เกิดการกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้ง และเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ที่มีประวัติการใช้ความรุนแรง จึงต้องให้ความระวังเป็นพิเศษ

          อย่างไรก็ตาม อากาศร้อนไม่มีผลต่อจำนวนการเจ็บป่วยทางจิตที่มากขึ้น เป็นเพียงตัวกระตุ้นหรือเพิ่มความเครียดเดิมที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นมากกว่า ซึ่งหากจัดการความเครียดที่มีอยู่รอบตัวไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องครอบครัว การทำงาน ความรัก เมื่อมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศร้อนย่อมจะเพิ่มความเครียดให้สูงขึ้นได้

 
          สำหรับวิธีการรับมือปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจที่เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนนั้น กรมสุขภาพจิต ก็มีคำแนะนำต่อไปนี้

         
ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอต่อวัน รวมทั้งระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร ทานอาหารที่ทำสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดร้อน หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ

         
หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หรืออยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนสูง โดยเฉพาะเวลา 11 โมงเช้า บ่าย 3 โมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน

         
สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก สวมหมวก/กางร่ม ใช้ครีมกันแดด เมื่อออกสู่ที่แจ้ง เพื่อลดการเผาไหม้ของแสงแดดสู่ผิวหนัง

         
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากสภาพอากาศในตอนกลางวันจะทำให้เหนื่อยง่าย เสียเหงื่อ และเสียพลังงาน ทำให้ไม่ค่อยสดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่ง

         
รู้เท่าทันความเครียดของตนเอง โดยสังเกตได้จากการเริ่มมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หายใจไม่ค่อยอิ่ม อาการทางจิตใจ เช่น ว้าวุ้น สมาธิไม่ค่อยดี หงุดหงิด สับสน คิดอะไรไม่ออก ถ้ามีอาการเหล่านี้อยู่ แสดงว่ามีความเครียด จำเป็นต้องหาทางจัดการความเครียดให้ได้ เช่น การออกกำลังกาย ทำสมาธิ  โยคะ ทำงานอดิเรก ปลูกต้นไม้ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่เพลิดเพลิน เพื่อพักสมองจากความเครียดต่าง ๆ ยิ่งเครียดมากเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตได้

         
ฝึกคิดบวก เช่น มองว่าอากาศร้อนทำให้ครอบครัวมีความสุข เนื่องจากไม่มีใครอยากออกไปรับสภาพอากาศที่ร้อนนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ทำให้มีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ได้พบปะพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวมากขึ้นกว่าปกติ ฯลฯ

         
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ร้อนข้างในร่างกาย แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว และจะเพิ่มแรงดันเลือดให้สูงขึ้นกว่าช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นหรือในช่วงที่มีอากาศปกติ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำรุนแรง อาจทำให้ช็อกหมดสติ และมีโอกาสเสียชีวิตได้ รวมทั้งทำให้ควบคุมสติไม่อยู่และอาจทำให้มีอาการประสาทหลอนตามมาได้

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment